คอลัมน์ “ผมเป็นข้าราษฎร”
หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์วิวาทะ Thai Red News ปีที่ 1 ฉบับที่ 16
โดย จักรภพ เพ็ญแข
เรื่อง รัฐภายในรัฐ
นักหนังสือพิมพ์อาวุโส “พญาไม้” ได้กรุณาเขียนถึงผมในคอลัมน์ของท่าน ว่าด้วยวลีหนึ่งที่ผมยกมาพูดคุยกับกลุ่มประชาธิปไตยที่มาฟังกันทั่วโลกเมื่อวันก่อน ผมจึงคิดว่าควรนำเรื่องนี้มาขยายความให้ชัด เพราะหนามที่ปักอกระบอบประชาธิปไตยไทยมาตลอดนั้น ไม่มีชิ้นไหนใหญ่กว่าชิ้นนี้ และตำอยู่ในใจผู้อาวุโสหลายคนในเมืองไทยอย่างชนิดพูดไม่ออกบอกไม่ถูก
นั่นคือเรื่องของ “รัฐภายในรัฐ”
คำๆ นี้ไม่ได้ปรากฏอยู่ในตำราและงานวิจัยที่ก้าวหน้าในวิชารัฐศาสตร์อย่างเดียว แต่ยังเป็นคำที่หน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาใช้เรียกสภาวะเมืองไทยในช่วงสงครามเย็นว่า “state within state” ที่แปลออกมาตรงกันว่า รัฐภายในรัฐ นั่นด้วย
ความจริงคนที่ศึกษาการเมืองไทยถึงระดับโครงสร้างและรูปแบบการเมืองการปกครองก็รู้เรื่องนี้ทุกคน เรื่องนี้ไม่ใช่ความรู้ใหม่ เพียงแต่เหตุการณ์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๔ ที่พรรคไทยรักไทยกลายเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียงข้างมาก ได้คุณทักษิณมาเป็นนายกรัฐมนตรีผู้มีอำนาจเต็ม จนถึงขั้น “เกย” กับผู้มีอำนาจเดิม ได้กลายเป็นหลักฐานที่จับต้องได้ว่า “รัฐภายในรัฐ” ในราชอาณาจักรไทยนั้นมีตัวตนจริง
หลักฐานนี้ชี้ว่าประชาชนไม่ได้เป็นเจ้าของประเทศนี้อย่างที่โฆษณาชวนเชื่อกัน
“รัฐภายในรัฐ” มีความหมายว่า ภายในประเทศไทยที่เรียกตามศัพท์กฎหมายระหว่างประเทศว่ารัฐไทยนี้ มีรัฐบาลซ้อนกันอยู่ ๒ ชนิดคือ รัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งมาตามกระบวนการกับรัฐบาลที่ไม่เคยลงเลือกตั้งและไม่เคยสนใจที่จะได้รับเลือกตั้ง
รัฐบาลประเภทหลังประกอบด้วย:
๑. ข้าราชการระดับผู้ใหญ่ทั้งพลเรือนและทหารที่เติบโตมาเรื่อยๆ ในระบบอุปถัมภ์ของผู้มีอำนาจเดิม แล้วผลัดกันสวมอำนาจแบบสมบัติผลัดกันชม จนบางครั้งก็เกิดแก่งแย่งกัน
๒. กลไกการควบคุมรัฐไทยโดยสิ้นเชิง เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) กองบัญชาการตำรวจสันติบาล กระทรวงการต่างประเทศ กองทัพบก การบินไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
๓. ฝ่ายหารายได้ ทั้งจากสมบัติเดิมและสมบัติใหม่ รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายดูดทุนไม่ว่าจะเป็นทุนเก่าหรือทุนใหม่เข้าสู่ส่วนกลาง
๔. นักวิชาการผู้มีทักษะเฉพาะด้าน โดยเฉพาะวิธีควบคุมบ้านเมืองด้วยกฎหมาย เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญ การซ่อนเงื่อนไขรักษาอำนาจและผลประโยชน์ไว้ในกฎหมายระดับรองลงไป เป็นต้น
๕. ข้อตกลงกับประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ในการรักษาผลประโยชน์ร่วมกันและไม่ทับซ้อนในพื้นที่อำนาจของกันและกัน
รัฐบาลประเภทนี้จึงมีทุกอย่างอย่างสมบูรณ์ในการแสวงหาและรักษาอำนาจ ถือเป็นรัฐบาลตัวจริงของราชอาณาจักรนี้
ส่วนรัฐบาลเลือกตั้งเอาไว้เป็นภาพลักษณ์ของประเทศและใส่เป็นหน้ากากบังตัวจริงไว้
อยากได้อะไรก็โทรศัพท์หรือส่งคนมาสั่งรัฐบาลเลือกตั้งเหมือนสั่งพิซซ่า
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในช่วงแรกๆ (ตั้งแต่กลุ่ม “เรารักในหลวง” เป็นต้นมา) การแสดงตัวของ “ตุลาการภิวัตน์” คำวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง ๒ เมษายน ๒๕๔๙ เป็นโมฆะ การลอบสังหารนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเลือกตั้งด้วยระเบิดรถยนต์ การรัฐประหาร คปค./คมช. ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ การยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเกือบทุกคดี ฯลฯ คือผลงานของรัฐบาลตัวจริงของรัฐไทย
และเป็นเพียงผลงานส่วนหนึ่งเท่านั้น
ไม่มีทางเลยครับที่รัฐบาลเลือกตั้งจะสู้ได้ เพราะนอกจากการจัดตั้งกลไกอำนาจที่อ่อนแอผิดกับรัฐบาลตัวจริงที่ดำรงสภาพอยู่ลับๆ และแข็งแกร่ง รัฐบาลเลือกตั้งยังต้องทำงานและเผชิญกับปัญหาต่างๆ เป็นประจำวัน ใครจะวิจารณ์ด่าว่าอย่างไรก็มาลงที่รัฐบาลเลือกตั้งทั้งหมด
รัฐบาลตัวจริงลอยตัวอยู่เหนือภาวะขึ้นลงของประชามติ ไม่ถูกทดสอบแต่อย่างใดทั้งสิ้น นานๆ ครั้งก็ออกมาทำหน้าที่ “กูรู้” สอนสั่งรัฐบาลเลือกตั้งราวกับลูก
ภารกิจของรัฐบาลตัวจริงผู้เป็น “รัฐภายในรัฐ” ก็ชัดเจนนัก จุดเริ่มต้นคือความไม่ยอมเสียอำนาจและผลประโยชน์ให้กับคู่แข่งสำคัญคือฝ่ายประชาธิปไตย มาจนถึงหน้าที่หลักไม่กี่อย่างคือ:
๑. สร้างภาพให้ระบบการเมืองเป็นสิ่งเลวร้าย เน่าเสีย จนประชาชนรู้สึกว่าพึ่งพาอาศัยไม่ได้ เช่นตอกย้ำเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เป็นต้น
๒. รัฐบาลประชาธิปไตยต้องดูด้อยความสามารถ ด้อยค่า และสมควรถูกทำลายทิ้ง ถ้ามีค่าและมีกำลังอำนาจขึ้นมา ก็สร้างภาพว่าโกง เป็นเผด็จการ และไม่จงรักภักดี เพื่อกำจัดเสีย
๓. ทำให้ระบบราชการ ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการของรัฐบาลตัวจริง สูงส่งกว่าประชาชนทั้งประเทศ สร้างเงื่อนไขให้มวลชนโง่กว่าและล้าหลังกว่าเสมอไป
๔. กระชับอำนาจอยู่ตลอดเวลา ด้วยการสร้างการแข่งขันในหมู่ลูกน้องและผู้ปฏิบัติงาน ใครทำพลาดก็กำจัดออกไป ใครทำดีถูกใจก็ส่งเสริมอย่างไม่ต้องสนใจความรู้สึกของใคร
๕. โฆษณาชวนเชื่ออย่างไม่หยุดยั้ง ถ้าเนื้องานปัจจุบันไม่มี ก็ไปขุดอดีตมาโฆษณาซ้ำซากจนเกิดความคุ้นชินและไม่กล้าท้าทาย สร้างตัวเองจนเป็น “มาตรฐานแห่งความดี” ของสังคมไทย
๖. คนที่กล้าท้าทาย โดยเฉพาะท้าทายอย่างเปิดเผย ก็เชือดไก่ให้ลิงดู โดยลงโทษอย่างดิบเถื่อน
๗. ไม่ว่าถูกกดดันอย่างไร ผู้นำรัฐบาลตัวจริงจะไม่เผยโฉมหน้าเป็นอันขาด แต่จะแสดงบทเลี่ยงๆ เมื่อถึงคราวจำเป็นให้คนที่ต่ำกว่าตีความเองว่าต้องการอะไรและอย่างไร (หลายครั้งก็ปล่อยให้ตีความผิด) นอกนั้นจะสั่งการผ่านรหัสและใช้ “บ๋อย” เพื่อไม่ให้ใครสาวถึง
๘. ทำความตกลงกับสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน และสหราชอาณาจักรอยู่เสมอว่าตราบใดที่รัฐบาลตัวจริงรักษาอำนาจได้อย่างมั่นคง ผลประโยชน์ของทั้งสามก็จะเสถียรตามไปด้วย หลักการนี้เรียกกันเล่นๆ ในวงการว่า “I Live, You Live. I die, You die” เอกอัครราชทูตไทยใน ๓ ประเทศนี้จึงถูกคัดเลือกอย่างระมัดระวัง และมักมีงานพิเศษหลังเกษียณเสมอ
ขณะนี้การเมืองถูกบงการเป็นรายวันโดยรัฐบาลตัวจริง “รัฐภายในรัฐ” รัฐบาลเลือกตั้งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็พยายามรักษาตัวเหมือนเนื้อหอยในเปลือกหอย ทำงานอะไรไม่ได้เลย
รัฐบาลเลือกตั้งที่ประชาชนต้องการจริงๆ ก็ถูกกดไว้ ไม่อนุญาตให้ขึ้นมาเป็นทางเลือก เพราะถ้าประชาชนเลือกตั้งรัฐบาลของตัวเองแล้ว รัฐบาลตัวจริงอาจเกิดอนิจจัง ตั้งอยู่ไม่ได้อีกต่อไปในรัฐไทย
เราอาจโทษรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์ของฝ่ายประชาธิปไตย เอาเข้าจริงแล้วก็เรื่องขี้หมาทั้งนั้น
ปัญหาคือรัฐบาลตัวจริงที่ใจแคบ เห็นแก่ตัว ทรุดโทรม และอำมหิต
หัวใจของปัญหาการเมืองไทยคือ “รัฐภายในรัฐ”.
-------------------------------
TPNews (Thai People News): ข่าวสารสำหรับผู้รักประชาธิปไตย เที่ยงตรง แม่นยำ ส่งตรงถึงมือถือทุกวัน สมัครวันนี้ ใช้ฟรี 14 วัน พิมพ์ PN ส่งมาที่เบอร์ 4552146
ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน (เฉพาะ DTAC 30 บาท/เดือน)
Call center: 084-4566794-6 (จ.- ศ. 9.30-17.30 น.)
No comments:
Post a Comment
Note: Only a member of this blog may post a comment.