Sunday, May 3, 2009

พรรคประชาธิปัตย์ในอดีต จนมาถึง ณ.ปัจจุบัน

พรรคประชาธิปัตย์ในอดีต จนมาถึง ณ.ปัจจุบัน
ตามประวัติบุคคลสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์เริ่มตั้งแต่นายควง อภัยวงศ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นต้น ล้วนมีเกียรติประวัติว่ามีสปิริตทางการเมืองสูงทั้งสิ้น นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคคนแรก เป็นขุนนางและมีบรรพบุรุษเป็นถึงเจ้าประเทศราช จึงไม่เป็นปัญหาว่าแม้จะมีความคิดแบบประชาธิปไตยเข้มข้นจนเข้าร่วมกับคณะราษฎร แต่จิตวิญญาณการเมืองย่อมหนีไม่พ้นอำมาตยาธิปไตย
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นั้นเล่าเป็นเจ้าโดยสายเลือดแม้จะเป็นชั้นปลายแถว และจบการศึกษามาจากประเทศประชาธิปไตย คืออังกฤษ แต่อังกฤษนั้นมีจิตวิญญาณอนุรักษ์นิยมอยู่เต็มตัว ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงไม่ยอมขจัดคราบนักประชาธิปไตยอนุรักษ์นิยม หรือในที่สุดก็คืออำมาตยาธิปไตยไปได้เช่นเดียวกัน แต่ถึงอย่างไรผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 2 คนนี้ก็มีสปิริตทางการเมืองอย่างที่ใครก็ตำหนิไม่ได้ นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกก่อนที่จะตั้งพรรคประชาธิปัตย์เสียด้วยซ้ำ เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของประเทศไทย และเป็นในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 คือปี 2487 หลังจากที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ลาออกไป นายควงลาออกจากตำแหน่งนายกฯเมื่อสงครามสิ้นสุดในปี 2488 โดยอ้างเหตุผลว่าได้มีการประกาศสันติภาพตามพระบรมราชโองการแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามประเพณีนิยมแห่งวิถีการเมือง และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเหมาะสมในอันที่จะยังมิตรภาพ และดำเนินการเจรจาทำความเข้าใจอันดีกับฝ่ายพันธมิตรเข้าบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป การประกาศสันติภาพก็คือ การประกาศไม่ยอมรับความพ่ายแพ้สงครามร่วมกับญี่ปุ่นนั่นเอง ไม่ใช่อะไรอื่น
จะเห็นได้ว่านายควงไม่ยึดติดกับเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจเพื่อชาติก็ถอยออกมาทันที และถอยด้วยความเต็มใจ นายควงมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 หลังจากรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จัดให้มีการเลือกตั้ง แล้วตัวท่านพ้นตำแหน่งไป แต่แล้วก็ต้องลาออกเมื่อ 18 มีนาคม 2489 เพราะแพ้มติร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนหลังจากตั้งพรรคประชาธิปัตย์แล้ว เมื่อเกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 นายควงนำพรรคประชาธิปัตย์หลวมตัวเข้าเป็นรัฐบาลหุ่นให้คณะรัฐประหาร แต่เมื่อบริหารไปได้พักหนึ่งคณะทหารเกิดความไม่พอใจมาสะกิดขอให้สละอำนาจ นายควงก็นำคณะลาออกโดยง่ายดาย การพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 ครั้งเป็นสปิริตของนักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่มีการอิดออด ไม่มีอาการติดเก้าอี้หรือหลงอำนาจแต่อย่างใดทั้งสิ้นนี่คือสิ่งที่น่าเคารพนับถือได้อย่างบริสุทธิ์ใจ
ส่วน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นั้นเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2488 ขณะที่มีอายุเพียง 41 ปี เพื่อรับภาระหน้าที่เจรจากับประเทศสัมพันธมิตรหาทางมิให้ไทยต้องตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษเท่านั้น เมื่อแก้ปัญหานั้นได้แล้ว ม.ร.ว.เสนีย์ก็ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ ได้รัฐบาลใหม่โดยที่ตัวเองเป็นนายกฯเพียง 4 เดือนเท่านั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช รับหน้าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อนายควง อภัยวงศ์ เสียชีวิตในปี 2511 และได้มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งในปี 2518 เป็นระยะเวลาสั้นๆ เพราะตัดสินใจตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ด้วยรังเกียจพรรคการเมืองอื่นที่เป็นสมุนทรราชแต่แล้วในปี 2519 ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงมากอันดับหนึ่งคือ 114 เสียง ต้องรับภาระจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีเสียงมากพอ แต่เกิดการแตกแยกภายในพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบกับการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร ในรูปของสามเณร ถูกนิสิตนักศึกษาประท้วงจนเกิดวิกฤต
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ถูกนายวีระ มุสิกพงศ์ ส.ส. ซึ่งเป็นลูกพรรคอภิปรายโจมตีเป็นทำนองว่ารู้เห็นเป็นใจหรือยักคิ้วหลิ่วตาให้จอมพลถนอมกลับมา เป็นการไม่จริงใจต่อประชาชนผู้รักประชาธิปไตยที่ต่อสู้ขับไล่เผด็จการม.ร.ว.เสนีย์จึงลาออกกลางสภาไม่ติดเก้าอี้ และไม่หลงอำนาจ สมเป็นนักประชาธิปไตยคนหนึ่ง ผิดกับผู้นำพรรคประชาธิปัตย์รุ่นหลังที่หน้าด้านกระดานเขียง นั่งบนเก้าอี้เปื้อนเลือดประชาชนผู้รักประชาธิปไตยกันหน้าตาเฉย

นำมาให้อ่านค่ะ

ที่มา: ขอขอบพระคุณ คุณ white_power จากกลุ่มแดงไทย

http://groups.google.com/group/redthai?hl=th

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.