Sunday, May 24, 2009

ข้อมูลใหม่กรณีสวรรคต

ข้อมูลใหม่กรณีสวรรคต : หลวงธำรงระบุชัด ผลการสอบสวน ใครคือผู้ต้องสงสัยที่แท้จริง
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




ผมเริ่มศึกษากรณีสวรรคตอย่างจริงจังเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน นอกจากอ่านหนังสือที่มีอยู่ในขณะนั้นแล้ว ผมยังได้มีโอกาสสัมภาษณ์บุคคลที่มีชีวิตร่วมสมัยทศวรรษ 2490 ที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนั้นหลายคน รวมทั้งคนที่ได้ชื่อว่าเป็น "ลูกศิษย์ปรีดี" เช่น คุณสงวน ตุลารักษ์, คุณจรูญ สืบแสง และคุณชิต เวชประสิทธิ์ (คุณชิต เป็นหนึ่งในคณะทนายจำเลย นอกจากนี้ ก่อนรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 คุณชิตเป็น 1 ใน 2 "ลูกศิษย์อาจารย์" ที่ "นำสาร" จากจอมพล ป ไปให้ปรีดีที่เมืองจีน เสนอให้กลับมาร่วมมือกันต่อสู้กับพวกนิยมเจ้า โดยรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นใหม่ - ผมเล่าเรื่องนี้ไว้ในบทความเรื่อง "ปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป., กรณีสวรรคต และรัฐประหาร 2500" รวมอยู่ในหนังสือของผม ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง, หน้า 31-35 และ "50 ปีการประหารชีวิต 17 กุมภาพันธ์ 2498" ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2548 หรือฉบับออนไลน์ที่ http://somsakwork.blogspot.com/2006/06/blog-post.html ) ท่านผู้หญิงพูนสุข ผมก็เคยได้พบพูดคุยด้วยครั้งหนึ่ง (ด้วยความช่วยเหลือของคุณ"ป้า"ฉลบชลัยย์ พลางกูร) แต่เมื่อผมถามถึงกรณีสวรรคต ท่านผู้หญิง ไม่อธิบายอะไร นอกจากเสนอให้ผมไปอ่านงานของปรีดีเองที่เพิ่งตีพิมพ์ในช่วงนั้นภายใต้ชื่อ คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต (ตัวงานนี้จริงๆเป็นคำฟ้อง ซึ่งปรีดีเป็นผู้ร่างเอง) อันที่จริง งานชิ้นนี้ ในความเห็นของผม ไม่ได้อธิบายกรณีสวรรคตในแง่เกิดอะไรขึ้นนัก แม้จะมีประเด็นทางข้อกฎหมายบางอย่างที่น่าสนใจ

ข้อมูลอย่างหนึ่งที่ผมได้จากการสัมภาษณ์หลายคนคือ ปรีดีเอง จะไม่ยอมพูดถึงกรณีสวรรคตโดยเด็ดขาด ไม่ว่ากับใคร (เรื่องนี้ ปราโมทย์ นาครทรรพ ซึ่งไม่ใช่ "ลูกศิษย์ปรีดี" เคยเล่าให้ผมฟังว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยแวะไปเยี่ยมปรีดีที่ปารีส ระหว่างที่เดินเล่นคุยกันไป เขาเอ่ยปากถามปรีดีขึ้นมาถึงกรณีสวรรคต ปรากฏว่า ปรีดีหยุดพูดทันที และนิ่งเงียบไม่ยอมพูดอะไรทั้งสิ้น จนเขาต้องเปลี่ยนเรื่องคุยเอง) แต่อีกอย่างหนึ่งที่ผมได้รับการบอกเล่าเสมอ โดยเฉพาะจาก "ลูกศิษย์อาจารย์" คือ "อาจารย์ปรีดี เป็นผู้ปกป้องราชบัลลังก์ และยอมเสียสละตัวเองอย่างสูง" นัยยะของข้อความที่มีลักษณะเชิง "รหัส" (coded message) แบบนี้คือ ปรีดีรู้ความจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต แต่ไม่ยอมเปิดเผยออกไป เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ ทั้งๆที่ตัวเองต้องได้รับผลร้ายจากการไม่พูดนี้ แต่เมื่อผมพยายามซักให้ผู้เล่าขยายความว่า การไม่พูดความจริง จะเป็นการปกป้องราชบัลลังก์อย่างไร ก็มักได้รับความเงียบหรือการปฏิเสธที่จะพูดต่อเป็นคำตอบ (อย่าลืมว่า นี่คือช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 2520 ซึ่งปรีดีเองยังมีชีวิตอยู่ และกรณีสวรรคตยังมีลักษณะ "ต้องห้าม" มากกว่าปัจจุบันนี้) หลายปีหลังจากนั้น ผมมองว่า การไม่ยอมพูดสิ่งที่เขารู้หรือคิดเกี่ยวกับกรณีสวรรตโดยแท้จริง เป็น "ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์" ครั้งที่สอง ของปรีดี (เกี่ยวกับ "ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์" ครั้งแรกของปรีดีในทัศนะของผม ดูบทความชื่อนี้ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง) แต่ก็เป็นสิ่งที่มีความน่าสนใจในตัวเองมากๆ ที่ใครสักคนในฐานะอย่างปรีดี จะคิดว่า "ยอมเสียสละ" หรือยอม "รับเคราะห์" ในเรื่องอย่างกรณีสวรรคตเสียเอง (อันที่จริง แน่นอนว่า ไม่เพียงปรีดี ที่ต้อง "รับเคราะห์" ในเรื่องนี้ ผู้ที่ "รับเคราะห์" มากที่สุด คือ คุณชิต, คุณบุศย์ และ คุณเฉลียว 3 จำเลยที่ถูกประหารชีวิตไป - ผมได้รับการบอกเล่าในลักษณะเดียวกันว่า 3 ท่านนั้น ได้เสียสละอย่างสูงเพื่อสถาบันกษัตริย์เช่นกัน)

อะไรคือสิ่งที่ปรีดีไม่ยอมพูดเกี่ยวกับกรณีสวรรคต? ปรีดีไม่ใช่เป็น "พยานรู้เห็นในที่เกิดเหตุ" ก็จริง เพราะไม่ได้อยู่บริเวณพระที่นั่งบรมพิมาณ ในแง่นี้ เขาย่อมไม่สามารถ "เห็น" ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในที่นั้น (ไม่เหมือนคุณชิต และคุณบุศย์ - คุณเฉลียวเองก็ไม่เกี่ยวข้องกับที่เกิดเหตุเช่นกัน อันที่จริง เรียกว่าไม่เกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตเลย แต่ถูกลากเข้าไปเป็นจำเลย เพื่อเป็นข้ออ้างเชื่อมโยงปรักปรำปรีดีเท่านั้น) แต่กรณีสวรรคตมีผลกระทบต่อชีวิตของปรีดีโดยตรงมหาศาลเพียงใด คงไม่ต้องอธิบาย ยังไม่ต้องพูดถึงผลกระทบมหาศาลต่อประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ปรีดีมีบทบาทสำคัญอยู่ด้วย ดังนั้น อย่างไรเสีย ปรีดีจะต้องคิดและพยายามหาคำอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะหลังจากเขาถูกรัฐประหารหมดอำนาจไปโดยข้ออ้างกรณีสวรรคตด้วย แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า ปรีดีจะต้องมีข้อสรุป หรืออย่างน้อยที่สุดคือ ทฤษฎีหรือสมมุติฐานเกี่ยวกับกรณีสวรรตแน่ (และไม่ใช่เพียงแค่สรุปว่า "อธิบายไม่ได้" - ถ้าเราพิจารณาถึงความสำคัญของกรณีนี้ต่อตัวเขาเอง) อันทีจริง หลังจากผมได้ศึกษากรณีสวรรตมาหลายปี ผมพบว่า การอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นในกรณีนั้น หาใช่เรื่อง "ลึกลับซับซ้อน" อย่างมากมายแต่อย่างใด "ปริศนา" ที่แท้จริงของกรณีนี้ ไมใช่อยู่ที่การอธิบายไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่อยู่ที่ว่าทำไมการอธิบายที่ไม่ได้ยากเย็นอะไรนัก จึงไม่ได้รับการนำเสนอแต่ต้น (ดูบทความชุด “ปริศนากรณีสวรรคต” ตอนที่ 1 และ 2 ของผม ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2551 หรือ ฉบับออนไลน์ที่ http://somsakwork.blogspot.com/2007/11/blog-post.html ซึ่งยิ่งทำให้ผมมั่นใจเด็ดขาดว่า ปรีดีเองจะต้องสามารถอธิบายได้หรือมีคำอธิบายกรณีนี้แน่นอน

แต่เรื่องนี้ – ที่ว่าปรีดีต้องมีทฤษฎี/คำอธิบายเกี่ยวกับกรณีสวรรคต – ผมไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้เป็นเวลานาน และโดยเฉพาะไม่สามารถยืนยันได้ว่าทฤษฎีหรือคำอธิบายดังกล่าว(ถ้ามี) จะออกมาในรูปใด

. . . . . . . จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้

ได้มีผู้อ่านบางท่านได้มอบเอกสารสำคัญชุดหนี่งให้ผมเพราะเห็นว่าผมสนใจกรณีสวรรคต เอกสารดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้ซึ่งปรีดีไว้วางใจให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากเขา (พูดด้วยภาษาสมัยนี้คือ เป็น นายกฯ "นอมินี" ของปรีดีนั่นเอง) ได้เคยระบุอย่างชัดเจนว่า หลักฐานที่ได้จากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ ในสมัยที่เขาเป็นรัฐบาล บ่งบอกว่าใครคือผู้ต้องสงสัยแท้จริงในกรณีสวรรคต (แน่นอน ไม่ใช่ 3 ท่านที่ตกเป็นจำเลยหลังรัฐประหาร) ที่สำคัญ การระบุของหลวงธำรงเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นเรืองที่มาทำหลังเหตุการณ์นับสิบปี แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นเอง คือหลังรัฐประหารเพียงไม่กี่เดือน (หรือหลังกรณีสวรรคตไม่ถึง 2 ปี)

พูดง่ายๆคือ ตั้งแต่ไม่นานหลังการสวรรคต และก่อนที่จะเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 หลวงธำรง – และแทบไม่ต้องสงสัยว่าตัวปรีดีเอง – มีข้อสรุปอยู่แล้วว่าใครคือผู้ต้องสงสัยแท้จริง .....





หมายเหตุ: นี่เป็น "พรีวิว" pre-view หรือ "หนังตัวอย่าง" โปรดคอยติดตามบทความฉบับเต็ม เร็วๆนี้ (นี่ไม่ใช่ “ตอนที่ 3” ของบทความชุด “ปริศนากรณีสวรรคต” เพราะ”ข้อมูลใหม่” ที่ผมได้รับนี้ ได้รับหลังจากผมได้ทำบทความชุด “ปริศนา” ไปแล้ว และมีความน่าสนใจในตัวเอง ผมจึงแยกเขียนออกเป็นบทความต่างหาก)

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.