Monday, December 22, 2008

บทความต่างประเทศแปลแล้ว

บทความต่างประเทศแปลแล้ว

http://sites.google.com/site/networkmonarchy/
Duncan McCargo
ศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยลีดส์
ตีพิมพ์ลงใน The Pacific Review, Vol. 18 No. 4 December 2005: 499-519
บทคัดย่อ บทความนี้ให้เหตุผลว่า แนวคิดที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง เช่น เรื่องระบอบอมาตยาธิปไตย ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยระยะเปลี่ยนผ่าน และการปฏิรูปการเมืองนั้น ล้มเหลวในการอธิบายการเมืองไทยเมื่อไม่นานมานี้ได้อย่างถูกต้อง ในทางกลับกัน การเมืองไทยสามารถถูกเข้าใจได้ดีที่สุดในรูปเครือข่ายทางการเมือง เครือข่ายชั้นแนวหน้าในช่วง 2516-2544 มีศูนย์กลางอยู่ที่พระราชวัง ซึ่งในที่นี้จะเรียกว่า "เครือข่ายกษัตริย์" (network monarchy) เครือข่ายกษัตริย์เกี่ยวพันกับการแทรกแซงการเมืองของพระมหากษัตริย์ไทยและตัวแทนของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อดีตนายกรัฐมนตรีเปรม ติณสูลานนท์ เครือข่ายกษัตริย์ได้สร้างอิทธิพลขนาดมหาศาล แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จจนถึงขั้นครอบงำประเทศ ในทางกลับกัน พระราชวังต้องทำงานผ่านสถาบันทางการเมืองอื่น ๆ โดยมีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นหลัก แม้เครือข่ายกษัตริย์จะเป็นพวกอนุรักษ์นิยมโดยพื้นฐาน แต่พวกเขาก็มีรูปแบบเป็นฝ่ายเสรีนิยมในช่วงทศวรรษที่ 1990 (ปี 2533-2542) ประเทศไทยพบกับวิกฤติความชอบธรรมหลักๆมาสามครั้งตั้งแต่ 2535 ในแต่ละครั้ง เปรมรับบทบาทเป็นตัวแทนของพระราชวังในการสร้างสมดุลอำนาจทางการเมือง อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนที่กำลังขยายกว้างขึ้นของระบอบกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2544 และ 2548 ทักษิณพยายามแทนที่เครือข่ายกษัตริย์ด้วยเครือข่ายใหม่ที่เขาสร้างขึ้น บทความนี้แนะนำว่าความเข้าใจแบบดั้งเดิมในเรื่องอำนาจของกษัตริย์นั้นจำเป็นต้องได้รับการทบทวนใหม่

บทนำ

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีไทย กล่าวปาฐกถาที่สำคัญในกรุงเทพฯเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนมากกว่า 500 คนถูกฆ่าในเหตุการณ์รุนแรงตลอดปีที่ผ่านมา เปรมกระตุ้นนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำจากพระมหากษัตริย์และพระราชินี โดยให้ใช้แนวทางแก้ไขปัญหาที่สันติและระมัดระวังมากกว่าจะส่งกำลังไปอย่างรีบร้อนโดยไม่เข้าใจสถานการณ์อย่างถูกต้อง เขากล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาที่มีชื่อว่า "การรวมพลังแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ตามกระแสพระราชดำรัส" และอ้างถึงพระราชดำรัสวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งสนับสนุนให้ใช้การเข้าใจ การเข้าถึง และการพัฒนา ทักษิณอยู่ในวันที่มีการกล่าวพระราชดำรัสนั้นด้วยแต่เขาล้มเหลวในการปฏิบัติตาม เปรมอธิบายว่าทุกคนตั้งแต่ผู้นำชุมชนไปจนถึงเจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการและเอ็นจีโอ ควรจะศึกษาพระราชดำรัสและปฏิบัติตาม (Thai Press Reports, 3 มีนาคม 2548) ภายในไม่กี่วัน รัฐบาลก็จัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติขึ้นมาเพื่อจัดการกับความไม่สงบในภาคใต้ นับเป็นการสวนทางกับนโยบายอันก่อนอย่างสิ้นเชิง

การแทรกแซงของเปรมในเรื่องวิกฤติภาคใต้เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองหนึ่งของไทยที่ไม่ค่อยมีคนสังเกต นั่นคือ เครือข่ายกษัตริย์ เรื่องที่พระมหากษัตริย์ได้แทรกแซงการเมืองโดยตรงเป็นบางครั้งนั้นเป็นที่รู้จักกันดี ตัวอย่างที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ การแทรกแซงหลังเหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 เมื่อกษัตริย์เรียกนายกรัฐมนตรีที่ไม่เป็นที่นิยมและผู้นำการประท้วงมาเข้าพบและสั่งให้พวกเขายุติความขัดแย้งลง แต่การแทรกแซงซึ่งยากที่จะพบเห็นอย่างนั้นก็เป็นเพียงส่วนเล็กๆที่ถูกเปิดเผยของเครือข่ายการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่มีกษัตริย์เป็นแรงจูงใจ ในขณะที่ส่วนอื่นๆส่วนใหญ่ยังถูกปิดซ่อนจากสายตาสาธารณชนไว้อย่างมิดชิด เราจะมาตรวจสอบปรากฏการณ์และพัฒนาการของเครือข่ายกษัตริย์กัน ณ ที่นี้

1 comment:

  1. ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ

    ReplyDelete

Note: Only a member of this blog may post a comment.