Saturday, December 12, 2009

ที่ปรึกษากษัตริย์"นโรดม" ชำแหละปมร้าว"ไทย-กัมพูชา" จาก"อดีต"ถึง"ปัจจุบัน"

ที่ปรึกษากษัตริย์"นโรดม" ชำแหละปมร้าว"ไทย-กัมพูชา" จาก"อดีต"ถึง"ปัจจุบัน"
หมายเหตุ - บทความดังกล่าวเป็นการแสดงความเห็นของนายฮูลิโอ เฮลเดรส ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอดีตผู้ช่วยพิเศษและเลขานุการส่วนพระองค์ รวมถึงผู้เขียนพระราชประวัติของกษัตริย์นโรดม สีหมุนี ของกัมพูชา และเอกอัครราชทูตพิเศษของกัมพูชา ซึ่งส่งถึงเว็บไซต์ Khmerization แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาในปัจจุบัน "มติชน" เห็นว่ามีเนื้อหาที่น่าสนใจและช่วยให้ได้เห็นมุมมองอีกด้านหนึ่งจากผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และพัฒนาการของการเมืองกัมพูชาเป็นอย่างดี


ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและไทย

ผมเกรงว่าการถกเถียงกันเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับไทยมาถึงจุดที่กลายเป็นเรื่องเหลวไหลน่าหัวเราะไปเสียแล้ว และมันไม่ได้ช่วยให้เราสามารถประเมินสถานการณ์ที่แท้จริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้ รวมถึงไม่อาจมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับพัฒนาการทั้งหมด

เพื่อเป็นการเริ่มต้น ผมขอชี้ให้เห็นว่า ผมไม่ได้มองว่าบล็อกของพวกคุณจัดอยู่ในจำพวก "ชาตินิยมสุดโต่ง" แม้ว่าบางครั้งจะมีการแสดงความเห็นบางอย่างที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่น ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ความเห็นบางอย่างแสดงให้เห็นถึงการขาดซึ่งความรู้ความเข้าใจในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายละเอียดของเหตุการณ์บางอย่าง ซึ่งอาจทำให้ผู้คนไม่ได้เข้าถึงความเห็นของผู้ที่มีข้อมูล ซึ่งถูกต้องครบถ้วนอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดี กลับมาดูปัญหาความยากลำบากเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและไทย เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องใช้เหตุและผลและจิตใจที่สงบ เพื่อที่จะประเมินสถานการณ์และหาทางออกจากปัญหาดังกล่าว ในการนี้ ผมเห็นว่าเราต้องมองย้อนกลับไปถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์บางประการ ซึ่งบ่อยครั้งมักจะถูกละเลยหลงลืม

1) ไทยและกัมพูชาเป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนชิดติดกัน ความพยายามใดๆ ที่เป็นไปได้ของผู้นำสองประเทศ เพื่อธำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ฉันมิตรย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งไทยและกัมพูชา

2) เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ไทยไม่เคยยอมรับคำพิพากษาของศาลโลก เมื่อปี 2505 ที่ระบุว่า ปราสาทพระวิหารอยู่บนดินแดนอันเป็นอธิปไตยของกัมพูชา ประเด็นดังกล่าวถูกนำมาใช้โดยรัฐบาลไทยหลายรัฐบาลต่อเนื่องกัน เพื่อบ่มเพาะกระแสชาตินิยมในจิตใจของคนรุ่นใหม่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว ไม่เคยได้ศึกษาผลคำพิพากษาดังกล่าว หรือไม่ก็เลือกที่จะผูกยึดอยู่กับกระแสชาตินิยมที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง

3) ระหว่างยุคเขมรแดงน่าหวาดกลัว ประชาชนไทยที่อาศัยอยู่ใกล้กลับพรมแดนกัมพูชาได้รับผลกระทบอย่างมาก ถึงกระนั้นไทยก็ยังคงเปิดบ้านต้อนรับชาวกัมพูชาหลายพันหลายหมื่นที่พากันละทิ้งนรกในบ้านเกิด

4) เมื่อกัมพูชาถูกเวียดนามรุกราน ไทยก็เปิดให้ชาวกัมพูชาจำนวนมากที่หลบหนีการบุกเข้ามายึดครองบ้านเรือนโดยเวียดนามได้เข้ามาพักอาศัย ในครั้งนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯตรวจเยี่ยมค่ายผู้อพยพเหล่านี้ด้วยพระองค์หลายครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าผู้อพยพชาวกัมพูชาเหล่านี้จะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

5) ในเวลาเดียวกัน กลุ่มผู้รักชาติชาวกัมพูชาที่ต่อสู้กับความพยายามยึดครองกัมพูชาของเวียดนาม ซึ่งรวมถึงพวกกลุ่มสาธารณรัฐเขมรของนายพลลอน นอล กลุ่มผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ และบางกลุ่มที่เหลืออยู่ของเขมรแดง ได้รับอนุญาตให้เปิดสำนักงานหรือเซฟเฮาส์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการทูตรวมถึงทางทหาร เพื่อต่อต้านกองกำลังเวียดนาม

6) เป็นเรื่องจริงที่ผู้นำกองทัพไทยในเวลานั้นบางคนได้ประโยชน์จากภัยสงครามในกัมพูชา ผมยังจำได้ชัดเจนถึงวันหนึ่ง ที่ผมทำงานในสำนักงานของพรรคฟุนซินเปค ในซอยสวนพลู ที่กรุงเทพฯ ภริยาของอดีตนายทหารระดับสูงของไทยเดินทางมาถึงโดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า รายล้อมไปด้วยผู้ติดตามจำนวนมาก รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้พยายามที่จะเกลี้ยกล่อมให้เจ้าชายนโรดม รณฤทธิ์ เห็นชอบกับการขายสถานทูตกัมพูชาในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นที่ต้องการของนักธุรกิจโลภมากชาวญี่ปุ่นที่เธอเป็นผู้แทน (สำหรับผู้ที่ไม่มีข้อมูล สถานทูตกัมพูชาในโตเกียว ซึ่งกษัตริย์นโรดม สีหมุนี ได้ซื้อมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 50 ตั้งอยู่ใกล้กับพระราชวังอิมพีเรียล ซึ่งเป็นทำเลที่ไม่เพียงแต่ถือว่าดีที่สุดในกรุงโตเกียว แต่ยังเป็นทำเลที่จัดว่าแพงที่สุดด้วย) ในเวลาต่อมา เจ้าชายรณฤทธิ์ สมเด็จซอน ซาน และนายเขียว สัมพัน ได้ตัดสินใจขายสถานทูตในกรุงโตเกียว พร้อมกับแนะนำให้กษัตริย์นโรดม สีหมุนี แจ้งต่อรัฐบาลญี่ปุ่นถึงการขายสถานทูตดังกล่าว

7) ระหว่างความพยายามในการสร้างสันติภาพในกัมพูชาในทศวรรษที่ 80 และช่วงต้นของทศวรรษที่ 90 ไทยมีบทบาทสำคัญ และช่วยอำนวยความสะดวกในการเป็นสถานที่จัดประชุมระหว่างประเทศหลายต่อหลายครั้งทั้งที่กรุงเทพฯ และที่พัทยาเพื่อพยายามหาทางออกให้กับความขัดแย้งในกัมพูชา

8) หลังการลงนามในความตกลงเพื่อสันติภาพในกรุงปารีสในปี 2534 ประเทศไทยได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับกัมพูชาอีกครั้ง ซึ่งเป็นทั้งเรื่องดีและบางครั้งก็เป็นเรื่องแย่สำหรับกัมพูชา เพราะนักธุรกิจบางรายพยายามที่จะหาทางตักตวงผลประโยชน์ ด้วยการทำกำไรอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการฝึกอบรมให้กับแรงงานท้องถิ่นในกัมพูชาอย่างเหมาะสม เพื่อให้พวกเขาสามารถที่จะสร้างอนาคตของตัวเองได้ในภายภาคหน้า แต่ก็ยังมีนักธุรกิจอีกจำนวนหนึ่งที่จริงจังกับการทำธุรกิจในกัมพูชา และจัดการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาแรงงานให้มีประสิทธิภาพ

9) หนึ่งในนักธุรกิจไทยที่เข้ามาหาประโยชน์หลังจากที่กัมพูชาเปิดประเทศขึ้นใหม่ก็คือ ทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งเต็มไปด้วยความทะนงตัวและหยิ่งยโส เข้าใจทันทีว่าอำนาจในกัมพูชาไม่ได้อยู่ในมือของพรรคฟุนซินเปค ซึ่งชนะการเลือกตั้งในปี 2536 แต่อยู่ที่ผู้แพ้หรือพรรคซีพีพี ทักษิณเริ่มเข้าหาผู้นำพรรคซีพีพี รวมถึงการทำธุรกิจที่น่ารังเกียจในกัมพูชา ซึ่งเจริญรุ่งเรืองภายใต้การอุปถัมภ์ค้ำชูของพรรคซีพีพี

ในครั้งนั้น ผมซึ่งดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการของสถาบันประชาธิปไตยกัมพูชาในพนมเปญ พยายามอย่างต่อเนื่องที่จะให้รายการโทรทัศน์ของสถาบันถูกนำเสนอในสถานีโทรทัศน์ของพนมเปญ ซึ่งในขณะนั้น มีทักษิณเป็นเจ้าของ แต่ผู้แทนของเขาในพนมเปญกลับไม่ยอมนำรายการใดๆ ที่ดูจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลออกฉายทางสถานีโทรทัศน์เลย

หันกลับมาดูที่ความยากลำบากในความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและไทยในปัจจุบัน โดยปราศจากความประสงค์ที่จะกล่าวโทษฝ่ายใด ผมมีประเด็นที่จะชี้ให้เห็นดังต่อไปนี้

1) ประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหาร ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการปลุกกระแสรักชาติอย่างผิดๆ ในประเทศไทย ภายใต้ความพยายามที่จะทำลายชื่อเสียงของทักษิณ ชินวัตร แต่ผมเกรงว่าไม่ได้มีแต่กลุ่มนี้เท่านั้นที่อาศัยประเด็นปราสาทพระวิหาร เพื่อประโยชน์ทางการเมืองภายในประเทศของตนเอง แม้แต่ฝ่ายตรงข้ามคนกลุ่มนี้หรือที่เรียกกันว่าพวก "เสื้อแดง" ก็ใช้เรื่องนี้ปลุกกระแสชาตินิยม เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเช่นกัน

2) "ฮีโร่" ของกลุ่มเสื้อแดงคือทักษิณ ผู้ซึ่งอยู่ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในห้วงเวลาที่ถือเป็นยุคสมัยที่เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น ซึ่งรวมถึงตัวของเขาเองก็ถูกตั้งข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่น และยังเป็นช่วงที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ในไทยด้วย

3) รัฐบาลกัมพูชาของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ไม่เคยดำเนินการใดๆ ในอันที่จะพัฒนาการเดินทางไปยังปราสาทพระวิหารในฝั่งกัมพูชา ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกเดินทางมาเที่ยวชมปราสาทจากฝั่งไทย ซึ่งมีการพัฒนาพื้นที่และมีความปลอดภัยมากกว่า ซึ่งนั่นทำให้เกิดโอกาสในการจ้างงานในฝั่งไทยไม่ใช่ฝั่งกัมพูชาที่ยังคงไม่ได้รับการพัฒนาใดๆ และยากในการเข้าถึง

4) ฮุน เซน ได้หาประโยชน์จากความสำเร็จในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยอ้างว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ในยุคสมัยของตน แต่ที่มากไปกว่านั้น ก็เพื่อปกปิดความล้มเหลวในการบริหารประเทศ ตั้งแต่การคอร์รัปชั่น การขาดความเป็นอิสระของกระบวนการยุติธรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชน การยึดครองที่ดิน ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2551

5) หนังสือใดๆ ที่ถูกจัดทำขึ้นในรัฐบาลกัมพูชายุคปัจจุบันเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารจะอวดโอ้ว่า รัฐบาลกัมพูชาซึ่งนำโดย ฮุน เซน เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ต่อคำตัดสินของศาลโลกในเรื่องปราสาทพระวิหารในปี 2505 ปิดบังบทบาทของกษัตริย์นโรดม สีหมุนี ในเรื่องดังกล่าว ด้วยการกระทำเช่นนี้เท่ากับไม่เปิดโอกาสให้คนกัมพูชารุ่นใหม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์กัมพูชาด้วย

6) เหตุที่ทำให้ปัญหามีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เป็นเพราะทั้งสองฝ่ายมักเลือกที่จะใช้ช่องทางและความสัมพันธ์ "ส่วนตัว" ในการติดต่อกัน ซึ่งรวมถึงการหาข้อยุติในการปักปันเขตแดนโดยรอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทกับไทย ขณะที่ฝ่ายของทักษิณใช้ช่องทางการติดต่อผ่าน พล.อ.ชวลิต ซึ่งเป็นผู้ที่มีทั้งฝ่ายที่ดูถูกและมีบางฝ่ายทนรับได้ในกัมพูชา ได้พยายามจะหาทางผ่าทางตัน อย่างไรก็ดี กระทรวงต่างประเทศของทั้งกัมพูชาและไทยต่างถูกกันไว้วงนอก ทั้งที่เป็นหน่วยงานที่ควรต้องทำหน้าที่หลักในการรับมือกับปัญหา

ในเรื่องนี้ ทักษิณและฮุน เซน เป็นบุคคลประเภทเดียวกันคือ ไม่สามารถแยกเรื่องส่วนตัวออกจากเรื่องของประเทศได้

7) ไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีองค์กรสื่อที่เข้มแข็ง และภาคตุลาการที่เป็นอิสระ ขณะที่ในส่วนของกัมพูชา ผมเกรงว่าจะไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นเผด็จการพรรคเดียว นายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบันเป็นสุภาพชน ผู้ซึ่งพยายามทำดีที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหามากมายที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่

8) ด้วยการยกเลิกการรับความช่วยเหลือต่างๆ จากไทย ฮุน เซน ได้พยายามหาประโยชน์จากการปลุกกระแสชาตินิยมขึ้นในความรู้สึกของคนกัมพูชาอีกครั้ง และพยายามที่จะหาเรื่องนายกรัฐมนตรีไทย เช่นเดียวกับที่เขามักจะหาเรื่องทุกคนที่ไม่เห็นด้วยกับเขา หรือนโยบายของเขาในกัมพูชา ที่แย่ไปกว่านั้นด้วยการตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล และเข้าข้างพรรคเพื่อไทยอย่างเห็นได้ชัด ฮุน เซน กำลังแทรกแซงกิจการภายในของไทย และสร้างบรรทัดฐานให้เกิดการแทรกแซงกิจการภายในของกัมพูชาได้ในอนาคต

เอกอัครราชทูตฮูลิโอ เอ. เฮลเดรส

นักวิชาการประจำสถาบันเอเชีย มหาวิทยาลัยโมแนชเมลเบิร์น ออสเตรเลีย


--

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.