ท่านปรีดี พนมยงค์กับจดหมายแนะนำคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ในประเด็นข้อเท็จจริง
สุพจน์ ด่านตระกูล นักเขียนเจ้าของรางวัลเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป จากการเขียนหนังสือเกี่ยวกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ มาตลอดชีวิต เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการหาหลักฐานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ นำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่ออธิบายว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาจารย์ปรีดี ฯ แต่อย่างใด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีความรับผิดชอบสูงอย่างยิ่งและมีจิตใจที่มั่นคงกล้าหาญ
สุพจน์เป็นนักเขียนคนหนึ่งที่เขียนหนังสืออยู่ในข่ายต้องห้ามหลายเล่ม กล่าวถึงหนังสือต้องห้ามที่ชื่อว่า THE DEVIL ‘S DISCUS เขียนโดย RAYNE KRUGER หรือในภาคไทยชื่อว่า กงจักรปิศาจ แปลโดย เรือเอก ชลิต ชัยสิทธิเวช ไว้ดังนี้
“ครั้งหนึ่งเคยคิดจะอ้างอิงข้อมูลจากหนังสือเล่มนี้ แต่หลังจากที่ได้เขียนจดหมายไปปรึกษาอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ท่านไม่เห็นด้วยกับการที่จะอ้างอิงจากหนังสือดังกล่าว เพราะข้อมูลคลาดเคลื่อนหลายตอน” (ดังข้อความในจดหมายของท่านปรีดี ที่จะกล่าวถึงต่อไป)
สุพจน์เล่าถึงการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยของหนังสือเล่มดังกล่าว จนถึงการจากไปว่า ร้านหนังสือนิพนธ์ ซึ่งเป็นร้านจัดจำหน่ายหนังสือย่านเฉลิมกรุงที่มีชื่อเสียงในสมัยเมื่อหลายสิบปีก่อน เป็นผู้นำเข้ามาเพียงไม่กี่เล่ม แล้วถูกสันติบาลสั่งเก็บหนังสือจนหมด และกลายเป็นหนังสือที่ถูกห้ามนำเข้ามาภายในราชอาณาจักร
แต่ในราวปี ๒๕๑๓ ขณะนั้นมีคดีความซึ่งอาจารย์ปรีดีฯ เป็นโจทก์ฟ้องหนังสือพิมพ์สยามรัฐกับพวกอันมี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายสำเนียง ขันธชวนะ นายประจวบ ทองอุไร และนายประหยัด ศ. นาคะนาท เป็นจำเลย ในข้อหาหมิ่นประมาทใส่ความ กล่าวหาว่าอาจารย์ปรีดีฯ ไปอยู่เมืองจีนเพราะหลบหนีคดีสวรรคต ซึ่งเป็นการกล่าวเท็จ
จริงๆแล้วที่อาจารย์ปรีดีฯ ต้องหนีออกจากประเทศไทย ครั้งนั้นเป็นการลี้ภัยรัฐประหาร ๘ พ.ย. ๒๔๙๐ ที่ส่งรถถังบุกโจมตีทำเนียบท่าช้าง อันเป็นที่พักอาศัยของท่านเพื่อหวังทำลายชีวิตท่าน
ระหว่างการต่อสู้คดี ทางฝ่ายโจทก์ได้อ้างเอกสารจำนวนหนึ่ง เพื่อชี้ให้ศาลเห็นว่าโจทก์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องหลบหนี เกี่ยวกับกรณีนั้น ที่หลบหนีก็คือภัยของคณะรัฐประหาร ๘ พ.ย. ๒๔๙๐ ที่มุ่งจะเอาชีวิตท่าน
ในจำนวนเอกสารจำนวนหนึ่งที่โจทก์ส่งอ้างต่อศาลนั้น มี THE DEVIL’S DISCUS ที่เขียนโดย RAYNE KRUGER รวมอยู่ด้วย คณะทนายของโจทก์ได้มอบหมายให้เรือเอก ชลิต ชัยสิทธิเวชช์ เป็นผู้แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย แล้วได้ส่งอ้างเป็นพยานเอกสารของโจทก์
หลังจากคดีสิ้นสุดแล้ว โดยจำเลยยอมรับผิดและได้ประกาศขอขมาในหน้าหนังสือพิมพ์สยามรัฐ มีความว่าดังนี้
ประกาศ
ตามที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นโจทย์ฟ้องบริษัทสยามรัฐ จำกัด ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายสำเนียง ขันธชวนะ นายประจวบ ทองอุไร นายประหยัด ศ.นาคะนาท เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งในข้อหาละเมิดโจทก์ ตามคดีดำหมายเลขที่ ๗๒๓๖/๒๕๑๓ เนื่องจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๑๓ และหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๑๓ ลงข้อเขียนซึ่งเขียนโดยนายสำเนียง ขันธชวนะ ในนามปากกาว่า ส.ธ.น. ซึ่งมีใจความว่าโจทก์พัวพันในคดีสวรรคตนั้น
จำเลยขอแถลงความจริงว่า โจทก์ไม่เคยเป็นจำเลยในคดีสวรรคตเลย และไม่เคยถูกศาลพิพากษาว่ากระทำผิด เมื่อโจทก์ไม่เคยถูกศาลพิพากษาลงโทษ จึงถือว่าโจทก์ยังบริสุทธิ์
ส่วนการที่โจทก์หลบหนีออกจากประเทศไทยนั้น เป็นเพราะหลบหนีการรัฐประหาร จึงขอให้ผู้อ่านทราบความจริงและขออภัยในความคลาดเคลื่อนนี้ด้วย
บริษัทสยามรัฐ จำกัด
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
นายสำเนียง ขันธชวนะ
นายประจวบ ทองอุไร
นายประหยัด ศ. นาคะนาท
ต่อมามีคนกลุ่มหนึ่งได้นำเอกสารแปลเรื่องนี้จากศาลไปตีพิมพ์เป็นเล่ม แต่ยังไม่ทันได้วางตลาด สันติบาลก็ได้มากวาดไปจากโรงพิมพ์เสียก่อน หนังสือเล่มนี้จึงไม่มีจำหน่ายในเมืองไทยไมได้และอยู่ในรายชื่อหนังสือต้องห้ามในยุคนั้น เพราะสันติบาลเก็บเงียบเสียก่อน ก่อนที่หนังสือจะออกสู่ตลาด
จดหมายที่อาจารย์ปรีดีฯ มีถึงสุพจน์ ด่านตระกูล บอกไม่เห็นด้วยกับการที่จะอ้างอิงหนังสือของ RAYNE KRUGER มีรายละเอียด ดังนี้
อองโตนี
๑๕ ม.ค. ๒๕๑๖
คุณสุพจน์ ด่านตระกูล ที่รัก
ได้รับจดหมายพร้อมทั้งหนังสือเรื่อง รัฐบุรุษอาวุโสลี้ภัยรัฐประหาร แล้ว ขอบใจมากในความปรารถนาดีของคุณ เพื่อที่หนังสือที่คุณจะแต่งเรื่องต่อไป ผมมีข้อสังเกตที่ขอให้คุณรับไว้ดังต่อไปนี้
๑) ผมปรารถนาที่จะใคร่ให้หนังสือที่คุณแต่งเป็นหนังสือที่เยาวชนรุ่นนี้และรุ่นต่อไปอ้างเป็นหลักฐานที่เขาจะค้นคว้าต่อไป สมดังที่ผมได้กล่าวชมเชยต่อนักเรียนในยุโรปหลายคนว่า พวกหัวนอกปริญญาสูงๆ หลายคนที่เขียนลงในนิตยสารนั้น สู้คุณซึ่งมิได้ปริญญาไม่ได้ อาทิคุณได้ทักท้วงสังคมศาสตร์ปริทัศน์ที่ผู้เขียนบางคนมิได้ดูหลักฐานจากราชกิจจานุเษกษา ขอให้คุณรักษาหลักการนี้ไว้ และปฏิบัติต่อไปตามที่ผมได้ชมเชยไว้ ดังนี้
ก. ขอให้คุณถือเอาหลักฐานทางการที่ไม่อาจมีผู้ใดปฏิเสธได้ เป็นหลักสำคัญ
ข. เรื่องที่มีคนอื่นเขียนก็ดี เล่าให้คุณฟังก็ดี ขอให้คุณสอบสวนให้แน่นอนเสียก่อน รวมทั้งใช้เหตุผลอย่างคอมมอนเซ้นส์ว่า ข้อเขียนและคำบอกเล่าเหล่านั้นจะเป็นจริงและจะเสียหายในด้านมุมกลับอย่างไร
ค. ข้อวิจารณ์ของคุณจากหลักฐานเอกสารแน่นอนและคำบอกเล่า ซึ่งคุณจะแสดงความเห็นอย่างไรก็ย่อมได้ อย่าปนกับข้อเท็จจริง
๒) เรื่องผมลี้ภัยรัฐประหารนั้น มีคำบอกเล่าที่คลาดเคลื่อนสำคัญที่ขอให้คุณรับทราบไว้คือ
ก. พระองค์เฉลิมพล มิได้ไปติดตามผมที่บ้านเดนิสและมิได้เอาเครื่องบินไล่ติดตามเลย ถ้าผู้นี้จะคัดค้านจะทำให้หนังสือนั้นเสื่อมเสียไป อนึ่ง ถ้ามองในด้านมุมกลับ แสดงว่าการลี้ภัยของผมก่อนถึงสิงคโปร์นั้นรั่ว ความเสียหายตกอยู่แก่ผู้ช่วยเหลือที่เขารักษาความลับเป็นอย่างดี
พระองค์เฉลิมพลเป็นคนจับกุมคุณเฉลียวที่สนามม้า เจ้าที่ไปบ้านเดนิสคือ ม.จ.นิทัศน์ที่เรียกกันว่า “ท่านบู้” เขามิได้ไปเพื่อจับผม แต่บังเอิญผมไปบ้านเดนิส เขาก็มีมีธุระที่พิบูลใช้ให้มาหาเดนิส ซึ่งขณะนั้นเป็นทูตทหารเรือ เพราะเดนิสเป็นผู้ที่สถานทูตของเขาใช้ให้ไปพบพิบูลตั้งแต่วันแรกมี ร.ป.
ข. ผู้จัดการบริษัทน้ำมันนั้นไม่ใช่ “อาดัม” ดูเหมือนชื่อ อีเวนส์ ขอให้คุณสอบสวนอีกครั้ง ไม่ควรเขียนหรือแปลจากหนังสืออื่นจะทำให้หนังสือที่คุณแต่งเสียหลักฐานไป พวกจัดการบริษัทน้ำมันนี้รู้จักผมดี เพราะผมเคยช่วยให้ความเป็นธรรมเมื่อก่อนสงครามที่จอมพลฯจะเอาน้ำมันญี่ปุ่นเข้ามาแข่ง และระหว่างสงคราม พวกนี้ถูกญี่ปุ่นจับไปเป็นเชลยทำทางรถไฟสายมรณะ พวกเขาอัตคัดเงิน พวกเราเคยช่วยรับเช็คที่พวกเขาแอบเขียนไว้ เสร็จสงครามเขามาหาผมแสดงความขอบใจ ฉะนั้นจึงมิใช่ว่าเขาไม่รู้จักหรือไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากผม
ขอให้คุณเข้าใจว่าฝรั่งนายทุนนั้นไม่ใจดีถึงขนาดที่จะช่วยเหลือคนที่ไม่รู้จัก และเขาจะช่วยเพียงที่ไม่นานนัก แล้วเขาก็ทำอุบายให้เราออกจากสิงคโปร์โดยการจับคุณเฉียบ เป็นการตีวัวกระทบคราด ดั่งนั้นก่อนการวิจารณ์คำบอกเล่า จึงขอให้คุณคิดให้รอบคอบ ทั้งด้านตรงและด้านมุมกลับ
๓) เล่มต่อไป “จากกรุงเทพฯถึงปักกิ่ง“นั้น มีผู้ช่วยเหลือผมหนีหลายคนที่เขายังสงวนความลับอยู่ ถ้าคุณงดไว้ชั่วคราวได้จะขอบใจมาก เพราะถ้าคุณเขียนจากคำบอกเล่าและคำสันนิษฐานผิดพลาดไปแม้แต่เล็กน้อย ผู้ช่วยเหลือผมก็จะเข้าใจผิดว่าผมบอกให้คุณเขียนเช่นนั้น โดยลืมผู้มีบุญคุณช่วยชีวิตไว้ เรื่องนี้ยังเป็นความลับอีกมาก ผมขอร้องคุณให้เห็นใจโดยยับยั้งไว้อย่างเด็ดขาด
อนึ่งขอแจ้งให้คุณทราบว่า หนังสือที่ผมแต่งเกี่ยวกับชีวิตและไปเมืองจีน เป็นภาษาฝรั่งหลายภาษา จะพิมพ์ออกในไม่ช้านี้ ถ้าคุณเขียนอย่างหนึ่งและผมเขียนอีกอย่างหนึ่ง ก็จะทำให้หนังสือที่คุณแต่งหมดคุณค่าไป และจะเกิดเสียหายแก่ผมมาก จึงขอให้คุณรอไว้ว่าผมได้เขียนเพียงแค่ไหนอย่างไร แล้วจึงปรึกษากันว่าภาษาไทยจะพิมพ์แค่ไหน
นอกจากนี้ต้องขอบอกว่าอเมริกันในไทยบางคน ได้ส่งต้นฉบับที่เขาเขียนตามคำบอกเล่าและอ้างหนังสือของคุณที่แต่งมาแล้วด้วยนั้น ส่งไปยังสำนักพิมพ์ที่อเมริกาเพื่อพิมพ์
๔) เล่มต่อไปที่คุณปรึกษาคือ “ท่านปรีดีกับราชบัลลังก์และกรณีสวรรคต” นั้น คุณเขียนได้โดยเงื่อนไขว่า
ก. เอาหลักฐานทางการและรายงานการพิจารณาของศาลตลอดจนคำฟ้อง คำขอขมาของจำเลยเป็นหลัก แล้วพิจารณาโดยมิให้ศาลถือว่าละเมิดอำนาจศาล ที่ยังมีตุลาการให้ความเป็นธรรมแก่ผมอยู่ และอย่าให้พวกปฏิปักษ์ก่อความยาวสาวความยืดที่ผมจะต้องตามไปแก้อีก
ข. ที่คุณจะอ้างหนังสือครูเกอร์นั้น ต้องปรึกษาคุณอิสสระและทนายของเรา คือคุณชิต เวชประสิทธิ์ ช่วยกันวิจารณ์และช่วยคุณอย่างละเอียด เพราะเรื่องล่อแหลมมาก
อนึ่งครูเกอร์เขียนตามคำบอกเล่าที่คลาดเคลื่อนหลายตอน ผมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับครูเกอร์แล้ว เพื่อเขาพิมพ์ใหม่ในภาษาต่างๆ ขอให้คุณนึกว่าหนังสือของคุณนั้น มิใช่คนในเมืองไทยที่ไม่รู้ภาษาฝรั่งเท่านั้นเป็นผู้อ่าน นักเรียนนอกที่รู้ภาษาฝรั่งก็อ่าน ซึ่งเวลานี้จำนวนกว่า ๒ หมื่นคน ถ้าเขาอ่านครูเกอร์ฉบับใหม่กับของคุณที่อ้างครูเกอร์ฉบับเก่า เรื่องก็จะไปกันใหญ่
ค. ทางที่ดีผมเห็นว่า คุณเอาเรื่องจากหนังสือแจกวันคล้ายวันเกิดของผม สำนวนที่มหาเปรื่องพิมพ์ ก็จะพบแก่การทำเล่มใหม่นี้ของคุณได้
ขอขอบใจอีกครั้ง
ด้วยความรักและคิดถึง
ป.พ.
จากหนังสือ “๘๐ ปีสุพจน์ ด่านตระกูล” พิมพ์ครั้งที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖
Posted by แด่บรรพชนผู้อภิวัฒน์ ๒๔๗๕ at 9:06 PM
No comments:
Post a Comment
Note: Only a member of this blog may post a comment.