Monday, February 9, 2009

บทสนทนากับชาวอเมริกัน ว่าด้วยเรื่องสถานการณ์ในเมืองไทย

บทสนทนากับชาวอเมริกัน ว่าด้วยเรื่องสถานการณ์ในเมืองไทย
เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้คุยกับชาวอเมริกันคนหนึ่ง ที่ทำงานเป็นผู้ดูแลนักเรียนทุนไทยในระยะแรก เขาผ่านนักเรียนทุนไทยมาหลายรุ่นแล้ว (รวมทั้งรุ่นผมด้วย) ปรากฎว่าเขาเองก็ได้รับข้อมูลข่าวสารจากนักเรียนทุน (ซึ่งบังเอิญว่าหลายคนเป็นพวกพันธมาร ร้องตะโกนว่า ท๊ากสินออกไป) เขาเองได้รับข่าวสารจากในประเทศอเมริกา แต่ได้ยินจากปากนักเรียนเหล่านี้อีกแบบหนึ่ง เขาเลยสงสัย คุยกับผมทาง facebook เพราะเขารู้ว่าผมเองก็เป็นพวกคร่ำหวอดทางการเมืองพอสมควรในหมู่นักเรียนทุนด้วยกัน

ผมไปดู chat history ใน facebook เป็นภาษาอังกฤษครับ เพื่อให้สมาชิกที่ไม่สันทัดภาษาอังกฤษได้อ่านด้วย ผมขอแปลและยกข้อความบางส่วนมาก็แล้วกันนะครับ

เขา: มันเกิดอะไรขึ้นหรือที่เมืองไทย

ผม: เกิดอะไรหรือ

เขา: ก็ข่าวทั้งหลายที่ออกมาในสื่อสหรัฐนี่สิ เช่นข่าวโรฮิงยากับข่าวเรื่องจับนายแฮรี่ แถมยังมีข่าวเรื่องจัดทำเว็บไซต์ (ผมไม่ขอพูด ละไว้ในฐานที่เข้าใจ เป็นเว็บไซต์ทำโดยกระทรวงยุติธรรมยุค ปชป. เป็นรัฐบาล)

ผม: คุณรู้เรื่องเหล่านี้ด้วยหรือ

เขา: ผมรู้ คนอเมริกันคนอื่นก็รู้ด้วยเหมือนกัน คุณคิดยังไงกับเรื่องนี้ เพราะนักเรียนหลายคนบอกผมว่าสนับสนุนโครงการนี้

ผม: ผมไม่เห็นด้วยนะกับนโยบายนี้ รวมไปถึงกฎหมาย ม.112 นั่นด้วย

เขา: ทำไมคุณถึงไม่เห็นด้วย ดูเหมือนคนไทยส่วนใหญ่จะเห็นด้วยนะ

ผม: ก็เพราะคนไทยส่วนใหญ่ที่คุณรู้จักนั่นเผอิญเป็นพวกชนชั้นกลางสูง และส่วนมากหลายคนในที่นั้นก็เป็นพวกลูกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือนักธุรกิจใหญ่

เขา: อืม จริงตามนั้น (เขารู้ว่ามีบางคนเป็นลูกผู้พิพากษาศาลฎีกา หรือบางคนที่ผมรู้จักก็มีตำแหน่งใหญ่ในสภาเทศบาลนครหาดใหญ่) แต่ว่ามันเกี่ยวกันตรงไหนล่ะกับเรื่องนี้

ผม: คุณน่าจะเคยได้ยินข่าวความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงนะ

เขา: ใช่ เป็นข่าวค่อนข้างใหญ่เกี่ยวกับประเทศไทยในช่วงนี้เลยละ

ผม: ที่จริงแล้วผมก็เสื้อแดงนี่แหละ

เขา: นั่นไง ว่าแล้วเชียว (หัวเราะ) ทำไมคุณไม่เห็นด้วยกับกฏหมายนั้นล่ะ

ผม: เพราะสิ่งที่กฏหมายนั้นปกป้อง แท้ที่จริงแล้วไม่ได้รับผลประโยชน์เลย ตรงกันข้าม กลับเป็นการเปิดทางให้เกิดการโจมตีกันทางการเมืองของฝ่ายที่อ้างความจงรักภักดี

เขา: ผมก็คิดอย่างงั้นเหมือนกัน คอลัมนิสต์บางคนยังเขียนบอกโอบามาเลยว่า ขอให้ทบทวนโครงการต่างๆ ที่ร่วมมือกับไทย เพื่อเป็นการตอบโต้สิ่งที่เกิดขึ้น (เขากล่าวถึงโครงการฝึกทหารร่วม Cobra Gold ที่ปกติมักมีทุกปี) หรือความร่วมมืออื่นๆ

ผม: ใช่ มันเคยถูกพักไปหนนึงแล้วสมัยที่ คมช. เรืองอำนาจ

เขา: ผมเองก็สงสัยอยู่อีกเรื่อง เห็นการชุมนุมคนเสื้อแดงมีคนมากมายขนาดนี้ พวกเขามีอาชีพอะไรกันบ้าง

ผม: ก็ทุกอาชีพนั่นแหละ ตั้งแต่ชาวนาชาวไร่ กรรมกร ขึ้นไปจนถึงนักวิชาการ นักธุรกิจ ข้าราชการ หรือแม้แต่ตำรวจหรือทหารก็ยังมีเสื้อแดงเลย

เขา: ถ้างั้นทำไมพวกนักเรียนทุนแทบทุกรุ่นที่ผมรู้จักกลับเป็นพวกตรงกันข้ามกับเสื้อแดงได้ล่ะ
ผม: คุณอยู่ประเทศศิวิไลซ์มานาน คุณคงไม่รู้หรอกว่าเนื้อร้ายที่กัดกินสังคมไทยขณะนี้คือระบบอุปถัมภ์ภายใต้อำมาตยาธิปไตย

เขา: มันเป็นยังไงหรือ

ผม: หากผมเล่าแล้วคุณไม่อยากเชื่อก็ไม่เป็นไรนะ แต่ผมจะเล่าเท่าที่ผมรู้ละกัน ในเมืองไทยใครมีอำนาจก็มักอยากจะครองอำนาจนั้นต่อไป ไม่ยอมปล่อย ส่วนใครที่อยากมีอำนาจทางลัดก็ต้องผูกสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจในขณะนั้น ไหนจะติดสินบนบ้าง เอาของไปฝากบ้าง แล้วผลตอบแทนก็คือผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจก็จะให้ในสิ่งที่เขาต้องการ เป็นวัฎจักรแบบนี้ เลยทำให้คนเก่งไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำงานในเมืองไทย เพราะถูกระบบนี้กีดกัน

เขา: (ทึ่งเล็กน้อย) แสดงว่านี่เป็นเรื่องของความต่างทางวัฒนธรรมล่ะสิ

ผม: ใช่ ในประเทศเจริญแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องแปลกประหลาด คุณคงไม่เคยได้ยิน ผมไม่แปลกใจที่คุณจะทึ่ง และพวกนักเรียนทุนที่คุณรู้จัก ก็อย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว หาได้น้อยมากที่จะเป็นลูกชาวบ้านรากหญ้าธรรมดา แทบทั้งหมดเป็นลูกชนชั้นกลางสูงทั้งนั้น และชนชั้นกลางสูงในเมืองไทยก็มีอีโก้ประหลาด นั่นก็คือคิดว่าคนชั้นล่างของสังคมไม่มีทางเสมอตัวได้

เขา: ว้าว

ผม: คุณอ่านหนังสือพิมพ์ที่นี่ (อเมริกา) คุณน่าจะรู้ดี สมัยของอดีตนายกทักษิณ มีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค พวกหมอกับพวกคนรวยคัดค้านกันใหญ่ เพราะคนจนจะมีสิทธิ์รักษาเท่าตัว ส่วนพวกหมอที่เป็นอภิสิทธิ์ชนในเมืองไทยต้องทำงานหนักขึ้น แถมเสียคนไข้ที่คลินิกของพวกเขาอีก

เขา: คุณก็ลูกหมอไม่ใช่หรือ ทำไมคุณเป็นเสื้อแดงได้ล่ะ

ผม: พ่อผมบอกผมอยู่เสมอว่า พวกเรามีชีวิตที่สุขสบายกว่าชาวบ้านเหล่านี้เป็นไหนๆ พวกเขามีชีวิตลำบากกว่าเราเยอะ เราควรสงสารเขา เพราะฉะนั้นพอนโยบายนี้ออกมา ชาวบ้านเหล่านั้นมีโอกาสได้รักษาในราคาย่อมเยา พวกเราจะไม่ยินดีกับเขาหน่อยหรือที่พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พ่อก็เคยทำงานในอำเภอชนบทไกลๆ ทำไมจะไม่รู้

เขา: หมอเมืองไทยน่าจะิคิดอย่างพ่อคุณเยอะๆ นะ

ผม: แต่ก็น่าเสียดายแทนทักษิณที่ต้องถูกรัฐประหาร คุณรู้หรือเปล่าว่าทำไมเขาถึงถูกรัฐประหาร

เขา: ผมก็รู้ เพราะมันมีสูญญากาศการเมืองก่อนเหตุการณ์นั้น พรรคฝ่ายค้านบอยคอตเลือกตั้ง
ผม: ใช่แล้ว พรรคฝ่ายค้านนั่นแหละตัวดี ที่เขาได้ดีมาเป็นรัฐบาลครั้งนี้ก็เพราะความช่วยเหลือจากทหารเหมือนที่วอชิงตันโพสต์เคยพูดถึงไปแล้ว ตอนนั้นเขารู้ว่าลงเลือกตั้งไปยังไงๆ ก็แพ้ เพราะทักษิณเป็นที่นิยมเหลือเกิน เขาเลยบอยคอตดีกว่า ผลที่ตามมาจะได้เลวร้ายต่อฝ่ายทักษิณ ที่สำคัญพรรคนี้ยังแอบสนับสนุนกลุ่มเสื้อเหลืองที่ปิดสนามบินอยู่เบื้องหลังอีกด้วย เพราะมี สส. พรรคไปเป็นแกนนำของกลุ่มนั้นด้วย

เขา: ใช่ๆ เฮ้อ ผมหวังแทนคุณนะว่าพวกกลุ่มคนชั้นสูงทั้งหลายที่กุมอำนาจจะคลายมือที่กุมอำนาจไว้แน่นลงซะบ้าง แล้วเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ืความสามารถมากุมชะตาประเทศไทย รู้สึกดีมากเลยที่ได้คุยกับคุณ ข้อมูลเกี่ยวกับระบบอุปถัมภ์หรืออะไรเหล่านี้ทำให้ผมเข้าใจสังคมไทยมากขึ้น และคงจะเป็นประโยชน์หากผมอยากทำงานต่อไปร่วมกับนักเรียนทุนรุ่นต่อๆ ไป ผมคุยกับนักเรียนทุนรุ่นน้องคุณ มีคนนึงความเห็นเป็นเสื้อแดงคล้ายๆ คุณเลย ถ้าอยากคุยด้วยผมจะให้เบอร์ติดต่อเขา

ผม: ขอบคุณครับ ยินดีที่ได้สนทนาด้วย

เขา: ยินดีเช่นกัน ถ้ามีโอกาสคราวหน้าผมคงต้องคุยกับคุณอีกแน่นอน ราตรีสวัสดิ์

อึ้งครับ คนที่นี่เค้ารู้เรื่องบ้านเมืองเรามากกว่าที่เราคิดครับ

มาร์คเอ๋ย ทหารเอ๋ย พรรค ปขป. เอ๋ย พธม. เอ๋ย และมือที่มองไม่เห็นทั้งหลาย พึงตระหนักไว้ด้วยว่า สังคมโลกเขาจับตามองอยู่ทุกขณะ จะเป็นไดโนเสาร์แบบในอดีตนั้นคงไม่ได้แล้ว สิ่งที่คนไทยต้องการก็คือ ประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพเท่ากันเท่านั้น ไม่ใช่ประชาธิปไตยจอมปลอมที่เสรีภาพประชาชนถูกลิดรอนและปิดกั้นเช่นนี้

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.