Sunday, May 9, 2010

หลักการสำคัญในการยุบสภา

หลักการสำคัญในการยุบสภา
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หลักการสำคัญในการยุบสภาสามารถพิจารณาภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญได้ ดังนี้[1]

1.การยุบสภาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ (มาตรา 108 วรรคหนึ่ง) เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง ดังนั้น จะทรงใช้พระราชอำนาจนี้ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชานุญาตเท่านั้น
2.การยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา (มาตรา 108 วรรคสอง) เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วย่อมมีผลเป็นการยุบสภาทันที ในการนี้ย่อมต้องกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
3.การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน (มาตรา 108 วรรค 3) หมายถึง หากมีจะการยุบสภาอีกครั้ง มิอาจอ้างเหตุผลหรือเหตุการณ์ที่ใช้ในการยุบสภาครั้งก่อนได้
4.การยุบสภาผู้แทนราษฎรกระทำลงก่อนครบวาระของสภา คือ สามารถกระทำในเวลาใดก็ได้ ในช่วงก่อนสภามีวาระครบ 4 ปี แม้อยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภา อย่างไรก็ตาม กรณีมีการเสนอญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแล้ว ย่อมไม่สามารถยุบสภาได้
5.การยุบสภาผู้แทนราษฎรทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง (มาตรา 106)
อนึ่ง คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่ในกรณีพ้นจากตำแหน่งจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ได้แก่

ไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป
ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
ส่วนสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาหาได้สิ้นสุดลงจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่ ดังนั้น จึงยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้ เว้นแต่เป็นกรณีดังต่อไปนี้ (มาตรา 132)

การประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภา เช่น การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาล การแต่งตั้งพระรัชทายาท การประกาศสงคราม เป็นต้น
การประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่พิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
การประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่พิจารณาและมีมติให้ถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง
[แก้] ข้อดีและข้อเสียของการยุบสภา
การยุบสภานี้ มีข้อดีประกาศสำคัญ คือ เป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เพื่อคืนอำนาจให้แก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม การยุบสภานั้นมีผลเสียประการสำคัญคือ ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณเป็นจำนวนมาก และเป็นความเสี่ยงประการหนึ่งของรัฐบาลที่ยุบสภา กล่าวคือ รัฐบาลชุดเดิมอาจมิได้รับการเลือกตั้งกับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง ตลอดจนการยุบสภาอาจเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไม่ชอบธรรมต่อฝ่ายตรงข้าม แม้เหตุผลในการยุบสภาจะมิขัดต่อกฎหมายก็ตาม

[แก้] การยุบสภาในประวัติศาสตร์ไทย
การยุบสภาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เกิดขึ้นมาแล้วรวมทั้งสิ้น 12 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2481 ในรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2549 ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การยุบสภาทั้ง 12 ครั้ง มีดังนี้[2][3]

ครั้งที่ วันที่ นายกรัฐมนตรี เหตุผลในการยุบสภา
1 11 กันยายน พ.ศ. 2481 พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา รัฐบาลขัดแย้งกับสภา
2 15 ตุลาคม พ.ศ. 2488 หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช สภาผู้แทนมีการยืดอายุมานานในช่วงสงคราม จนสมควรแก่เวลา
3 16 ธันวาคม พ.ศ. 2516 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติลาออก จนไม่อาจทำหน้าที่ของสภาได้
4 12 มกราคม พ.ศ. 2519 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ความขัดแย้งภายในรัฐบาล
5 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สภาผู้แทนราษฎรขัดแย้งกับวุฒิสภา กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
6 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐบาลขัดแย้งกับสภา กรณีการตราพระราชกำหนด
7 29 เมษายน พ.ศ. 2531 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ความขัดแย้งภายในรัฐบาล
8 29 มิถุนายน พ.ศ. 2535 นายอานันท์ ปันยารชุน เกิดวิกฤตทางการเมือง
9 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 นายชวน หลีกภัย ความขัดแย้งภายในรัฐบาล
10 27 กันยายน พ.ศ. 2539 นายบรรหาร ศิลปอาชา ความขัดแย้งภายในรัฐบาล
11 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 นายชวน หลีกภัย ใกล้ครบวาระ
12 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เกิดวิกฤตการณ์การเมือง

[แก้] อ้างอิง
1.^ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
2.^ มานิตย์ จุมปา. สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่อง 7. การยุบสภา. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2544. 41 หน้า. ISBN 974-00-8337-4
3.^ สิริรัตน์ เรืองวงษ์วาร. ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2539. 632 หน้า. ISBN 974-599-876-4

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.