Tuesday, May 4, 2010

เตือนความทรงจำที่ให้รับๆไปก่อนเถอะ(บทเรียนที่เจ็บปวด)

เตือนความทรงจำที่ให้รับๆไปก่อนเถอะ(บทเรียนที่เจ็บปวด)
ม.309 ทำให้เห็นความระยำของคน
Sat, 05/01/2010 - 10:45 | by jegkabot | Report topic

บทความนี้ ผู้เขียนใช้ชื่อ "สินธร" (เอามาจากพันทิป)

ม.309 ในร่างรัฐธรรมนูญของระบอบเผด็จการ : บทบัญญัติแห่งการทำลายหลักนิติศาสตร์

มาตรา 309 บัญญัติว่า "บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)
พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฏหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว
ไม่ว่าก่อนหรือ หลัง วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้"

บทกฎหมายมาตรานี้ เข้าใจไม่ยาก
ผู้อ่านแม้ไม่ได้ศึกษากฎหมายมาก็สามารถทำความเข้าใจได้ในระดับหนึ่งว่าเป็นการ
"รับรองความชอบด้วยกฎหมาย" ให้กับการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งการรัฐประหาร
และการกระทำทั้งหลายอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำรัฐประหาร เช่น การกระทำของ คตส.
การกระทำของตุลาการรัฐธรรมนูญ การกระทำของกกต. การกระทำของสสร. การกระทำของคปค.ที่กลายร่างมาเป็นคมช.
เป็นต้น

นอกจากนี้บทบัญญัติดังกล่าวยังขยายความไปถึงการกระทำก่อนหน้าการประกาศใช้และภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมน
ูญในระบอบเผด็จกาจ ซึ่งมีผลที่สำคัญอย่างน้อยสองประการ

ประการแรก เท่ากับว่า เป็นการรับรองให้กับการกระทำของคณะรัฐประหารกับพวกล่วงหน้าว่าชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งที่การกระทำเหล่านั้นยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งหมายความว่า ต่อไปในภายภาคหน้า
คณะรัฐประหารกับพวกจะทำอะไรที่เป็นการผิดกฎหมายก็ให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้
แล้วการนำรัฐธรรมนูญในระบอบเผด็จการมาทำประชามติลวงโลก นี่เป็นการให้ความรับรองในลักษณะให้ประชาชน
“ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเปล่า” เพื่อคณะรัฐประหารกับพวกจะไปกรอกข้อความอะไร อย่างไร เมื่อใดก็ได้

ประการที่สอง การเขียนบทกฎหมายเช่นนี้ มีผลให้อำนาจรัฐประหาร 19/9/49
ยังคงอยู่คู่กับสังคมการเมืองไทยต่อไป ตราบเท่าที่ม.309 ของรัฐธรรมนูญในระบอบเผด็จการนี้ยังคงอยู่
กรณีเช่นนี้ ต่อข้ออ้างว่า “รับไปก่อน เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข คมช.จะได้กลับเข้ากรมกอง”
จึงเป็นข้อกล่าวอ้างที่ปราศจากความจริง
เพราะมาตรานี้เป็นมาตราหนึ่งที่เป็นการต่อท่ออำนาจรัฐประหารสืบต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
หรือหากจะก่อนให้เกิดความสงบสุขก็เป็นความสงบสุขของคณะรัฐประหารกับพวกที่จะทำอะไรก็ได้ตามแต่ใจปรารถนา
แม้จะผิดกฎหมายหรือสร้างความเสียหายเดือดร้อนแก่สมาชิกในสังคม หาใช่ความสงบสุขโดยรวมของประชาชนไม่

เนื้อความของม.309 เช่นนี้
หากมีผลบังคับใช้จะเป็นการทำลายระบบกฎหมายของบ้านเมืองอันมีรากฐานมาร้อยกว่าปี
ทำลายการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทำลายหลักนิติศาสตร์ลงอย่างสิ้นเชิง อาทิเช่น

1.ทำลายหลัก “นิติรัฐ”
ประเทศประชาธิปไตยที่ยอมรับหลักนิติรัฐ
ผู้มีอำนาจต้องยอมตนอยู่ภายใต้กฎหมายที่ตราออกบังคับใช้และต้องถูกตรวจสอบโดยประชาชนหรือผู้แทนของประชาชน
คณะรัฐประหารกับพวกกล่าวเสมอว่าทำตามกฎหมาย คือยอมตนอยู่ภายใต้กฎหมาย
ตนเชื่อถือและเป็นผู้สร้างประชาธิปไตย

แต่มาตรา 309 กลับบ่ายเบี่ยงหลบหลีก ไม่ยอมให้ประชาชนตรวจสอบ ไม่ยอมตนอยู่ภายใต้กฎหมาย
ไม่ว่าจะเป็นการกระทำรัฐประหารของตน การกระทำของพวกพ้องทั้งก่อนหน้าและภายภาคหน้า บทบัญญัติของม.309
เช่นนี้เท่ากับเป็นการยกคณะรัฐประหารกับพวกเป็นอภิสิทธิชน ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่ต้องถูกตรวจสอบ
นี่เป็นการทำลายหลักนิติรัฐอย่างชัดเจน ร่างรัฐธรรมนูญในระบอบเผด็จการ จึงเป็นร่างที่ปฏิเสธหลักนิติรัฐ
ร่างรัฐธรรมนูญที่ปราศจากหลักนิติรัฐไม่อาจเป็นรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยได้

หากคณะรัฐประหารกับพวกเชื่อว่าการกระทำของตนถูกต้องชอบธรรมมีจริยธรรมตามที่พยายามกล่าวอ้าง
เหตุใดจึงต้องกลัวการตรวจสอบ เหตุใดจึงต้องหลบเลี่ยง ถึงขนาดบางคนกล่าวว่า “ม.309 ไม่ใช่นิรโทษกรรม
แต่ป้องกันคนหัวหมอนำไปฟ้อง” ก็แล้วถ้าการกระทำของตน “ชอบด้วยกฎหมาย”
ไยต้องเกรงกลัวการตรวจสอบโดยประชาชน แม้นมีการตรวจสอบ การกระทำที่ชอบก็ยังคงชอบอยู่วันยังค่ำ
เช่นนี้ข้อกล่าวอ้างที่ว่า “คนหัวหมอ” หมายถึงใคร “หัวหมอ” กันแน่

2.ทำลายหลัก “ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ”
ในระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย นอกจากมีหลักนิติรัฐเป็นส่วนสำคัญแล้ว
การมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อจำกัดผู้ใช้อำนาจรัฐและองค์กรของรัฐ มิให้มีอำนาจตามอำเภอใจ
ซึ่งจะกลายเป็น!@#$%^&ย์ในท้ายที่สุด โดยที่ห้ามผู้ใช้อำนาจรัฐและองค์กรของรัฐกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด
ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ
ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติและหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

การห้ามกระทำการขัดหรือแย้งหรือฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญนี้เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของปวงชนวิถีทางหนึ่ง
และยังบ่งชี้ถึงความเป็นกฎหมายสูงสุดที่ไม่ว่าใครฝ่ายใดละเมิดมิได้

หากแต่ม.309 ได้ทำลายหลัก “ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ” ลงอย่างน่าละอายใจ
ด้วยการบัญญัติให้การกระทำของคณะรัฐประหารกับพวกที่ทำก่อนหน้า ปัจจุบัน และในอนาคต
แม้จะผิดกฎหมายและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ “ให้ถือว่า” ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เช่นนี้หมายความว่า
ไม่ว่าคณะรัฐประหารกับพวกจะกระทำการใดก็ตาม ต่อให้ฝ่าฝืนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ก็สามารถทำได้
ความเป็นกฎหมายสูงสุดที่ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดหรือองค์กรหนึ่งองค์กรใดละเมิดย่อมสิ้นความศักดิ์สิทธิลง
ความเป็นกฎหมายสูงสุดถูกทำลายลงด้วยบทมาตรา 309

ใครก็ตามไม่อาจละเมิดรัฐธรรมนูญได้ แต่คณะรัฐประหารกับพวกละเมิดได้ นี่หมายความว่าอย่างไร ?

คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังสร้างหลักหรือทฤษฎีใหม่ของโลกขึ้นหรืออย่างไร ?

สร้างหลัก “อำนาจอธิปไตยเป็นของคณะรัฐประหารกับพวกเช่นนั้นหรือ ?

โดยมาตรา 309 สิทธิเสรีภาพของปวงชนย่อมไม่อาจหลีกพ้นจากภัยคุกคามของผู้ปกครอง
เนื่องเพราะคณะรัฐประหารกับพวกจะทำอะไรก็ได้ตามแต่ใจปารรถนา แม้ผิดกฎหมายก็ถือว่าชอบฯ

“อำนาจอธิปไตยเป็นของคณะรัฐประหารกับพวก”
คณะผู้ร่างฯกับพวกช่วยอธิบายหน่อยว่าหลักหรือทฤษฎีนี้มีที่มาจากไหน ใครต้นคิด
ปรัชญาเมธีของโลกคนใดสร้างสรรค์ขึ้น ?

3. ฝ่าฝืนหลัก “ห้ามก่อตั้งองค์กรขึ้นเพื่อพิจารณาคดีเป็นการเฉพาะเจาะจง”
หลักการนี้เป็นการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกละเมิดโดยผู้ใช้อำนาจรัฐ
และเป็นการควบคุมมิให้ผู้มีอำนาจและองค์กรของรัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจ
ก่อตั้งหรือแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลหรือองค์กรขึ้นเพื่อพิจารณาเอาผิดกับบุคคลหรือเรื่องใดๆเป็นการเฉพา
ะเจาะจง

เช่นเดียวกัน บทมาตรา 309 ได้รับรองการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการทำรัฐประหาร
ทั้งก่อนหน้าและภายภาคหน้าว่า แม้ผิดกฎหมายก็ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

การกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารในความหมายของหลักการ
“ห้ามก่อตั้งองค์กรขึ้นเพื่อพิจารณาคดีเป็นการเฉพาะเจาะจง” เช่น กรณีคตส.และตุลาการรัฐธรรมนูญ

คตส.และตุลาการรัฐธรรมนูญ
มีวัตถุประสงค์เป็นการก่อตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาคดีและเรื่องราวเฉพาะเจาะจงภายในช่วงเวลาหนึ่งๆ
หลังจากนั้นจะสลายตัวไป ซึ่งเห็นได้จากกรณีคตส.มีช่วงเวลาหนึ่งปี ภายหลังมีการต่ออายุ คตส. ออกไป
ส่วนตุลาการรัฐธรรมนูญก็ต้องสลายตัวไปหลังจากมีรัฐธรรมนูญ

กรณีทั้งสองจึงอยู่ในความหมายของการขัดต่อหลัก
“ห้ามก่อตั้งองค์กรขึ้นเพื่อพิจารณาคดีเป็นการเฉพาะเจาะจง” ซึ่งมาตรา 309
ได้เขียนในลักษณะขยายความครอบคลุมคุ้มครองไปถึงองค์กรเฉพาะเหล่านี้ด้วย
ไม่ว่าจะกระทำชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

หากพิเคราะห์จากคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ (องค์กรนี้ไม่ใช่ศาล) ในคำวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง
ยังไม่มีความชัดเจนหรืออาจกล่าวได้ว่าไม่ได้วินิจฉัยสถานะของตนเลยว่า คืออะไร ? ใช่ศาลหรือไม่ ?
สถานะที่คลุมเครือย่อมกระทบถึงอำนาจในการรับหรือไม่รับข้อพิพาท และอำนาจในการวินิจฉัยข้อพิพาท

ทางด้าน คตส. กระทำการประหนึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน แต่การดำเนินการที่ผ่านมาหลายกรณี
มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายเกือบทั้งสิ้น
กระบวนการสอบสวนที่ต้องดำเนินการไปภายใต้หลักเกณฑ์ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ถูกละเลยหลายประการ ซึ่งหากเป็นกรณีของกระบวนการสอบสวนตามกระบวนการของป.วิ.อ.ปกติ
การดำเนินลักษณะเช่นนี้ย่อมหมิ่นเหม่ต่อความชอบด้วยกฎหมายอันอาจมีผลถึงกับทำให้การสอบสวนที่ทำไปนั้น
“เสียไปทั้งหมด” และย่อมส่งผลไปถึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีอีกด้วย

ดังนั้น จากการก่อตั้ง คตส.และตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร เช่นนี้
จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อหลัก “ห้ามก่อตั้งองค์กรขึ้นเพื่อพิจารณาคดีเป็นการเฉพาะเจาะจง” อย่างโจ่งแจ้ง

เพียงตัวอย่าง 3 ประการก็ชี้ได้ถึงความน่าขยะแขยงของมาตรา 309
แห่งร่างรัฐธรรมนูญในระบอบเผด็จการอย่างที่ไม่อาจหาได้ในรัฐธรรมนูญของประเทศประชาธิปไตยอื่นอีกแล้ว
มิพักต้องกล่าวถึงกรณีการกระทำของบุคคลและองค์กรอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับคณะรัฐประหารกับพวก

ร่างรัฐธรรมนูญที่ทำลายหลักนิติศาสตร์อย่างน่าเกลียด น่าประณามเช่นนี้
ควรแล้วหรือที่จะถูกยอมรับและนำมาใช้สำหรับเป็นกติกาของประเทศ
หากจะเป็นได้ก็เพียงเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพอย่างไร้ขอบเขต ไร้ข้อจำกัด
เพื่อความร่มเย็นสงบสุขของเหล่าคณะรัฐประหารกับพวกเท่านั้น
แต่ไม่ใช่เพื่อความสงบสุขของประชาชนทั้งประเทศ

นี่คืออีกหนึ่งประเด็น (นอกเหนือจากที่กล่าวไว้แล้วในคราวก่อน)
ที่แสดงให้เห็นชัดว่า...............ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นร่างรัฐธรรมนูญในระบอบเผด็จการ
หาใช่รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยไม่

การพร่ำเอ่ยอ้างว่า “รับไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง”
จึงเป็นคำเอ่ยอ้างที่ขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนและระบอบประชาธิปไตย เป็นคำเอ่ยอ้างที่ไร้ยางอายที่สุด
การจะแก้ไขเพิ่มเติม ตัวร่างฯต้องอยู่ในสถานะที่ใช้ได้เป็นร่างฯในระบอบประชาธิปไตย แต่นี่เรียกได้ว่า
เน่าเสียทั้งฉบับ มีเพียงผักชีโรยหน้าว่าด้วยสิทธิเสรีภาพประดับไว้ไม่กี่มาตรา
ซึ่งหาเป็นผลในความเป็นจริงไม่ (ดูข้อความในคราก่อน) ของเน่าเสียทั้งฉบับ จะแก้ได้อย่างไร
หากจะแก้ไขก็ต้องแก้ไขทั้งฉบับ
แก้ไขเพิ่มเติมจากร่างรัฐธรรมนูญในระบอบเผด็จการเป็นร่างรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย
มิสู้เขียนใหม่ง่ายกว่ารึ ?

รัฐธรรมนูญไม่ใช่เสื้อผ้าที่พวกมักง่ายอยากแก้ อยากทิ้งเมื่อไร อย่างไรก็ได้

ก่อนหน้าประชาชนเรียกร้องแล้วเรียกร้องอีกถึงความไม่ชอบมาพากล
ถึงความพิกลพิการของการจัดวางโครงสร้างทางบริหารของร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้
ซ้ำยังกล่าวร้าย กล่าวหา ข่มขู่ผู้แสดงความคิดเห็น พอร่างออกมาหน้าตาอัปลักษณ์เป็นอสูรกายเผด็จการ
ประชาชนไม่ต้องการ ก็กลับออกมาเอ่ยเอื้อนให้รับไปก่อนค่อยแก้ไขทีหลัง ใครไม่รับทำลายชาติ ไม่รักชาติ
ไม่รักประชาธิปไตย

หมายถึงคณะรัฐประหารกับพวกเช่นนั้นหรือ ?

คณะรัฐประหารกับพวกสร้างสรรค์ร่างฯนี้เป็นประชาธิปไตยเช่นนั้นหรือ ?

ร่างรัฐธรรมนูญในระบอบเผด็จการ แต่ย้อมสีให้เป็นร่างรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย น่าขันสิ้นดี

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.