Thursday, January 8, 2009

รัฐบาลสี่เสาต่างตอบแทน

รัฐบาลสี่เสาต่างตอบแทน
โดย คุณ คณิน บุญสุวรรณ
ที่มา เวบไซต์ มติชน
6 มกราคม 2552

กว่าจะได้มาซึ่งรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ประเทศไทย ต้องชดใช้ด้วยราคาการลงทุนที่แสนแพง

ถ้าเปรียบเป็นการค้า ก็เรียกว่า "ขาดทุนย่อยยับ" เลยทีเดียว ความสูญเสียที่ประเทศไทยต้องชดใช้ หรือแลกเพื่อให้ได้มาซึ่งการโหวตในสภา เพียงเพื่อให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น มีมากมายหลายประการดังต่อไปนี้

1. สถาบันตุลาการ และสถาบันเบื้องสูง ถูกแอบอ้าง และดึงเข้ามาพัวพันกับการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองและเปิดเผยที่สุด อย่างไม่เคยมีมาก่อน

2. องค์กรอิสระทำตัวเป็น "อำนาจที่สี่" ที่อยู่เหนือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังไร้ความเป็นกลางโดยสิ้นเชิง

3. กองทัพถูกใช้เป็นเครื่องมือ ในการเล่นการเมือง และแย่งชิงอำนาจกันระหว่างสองขั้วการเมือง ซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อกัน

4. ระบบพรรคการเมืองพังพินาศ ไม่เว้นแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแตกร้าวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ถึงแม้จะไม่ถูก "ยุบ" แบบเดียวกับพรรคพลังประชาชน แต่ก็ถูก "ยึด" ไปเรียบร้อยแล้ว

5. ร้อยละแปดสิบของสื่อมวลชน ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ เอียงกระเท่เร่ และเลือกข้างอำมาตยาธิปไตย อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

6. เจตจำนงของประชาชน ที่ผ่านการเลือกตั้งทั่วไป ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง เพราะสามารถใช้อำนาจนอกระบบ บีบให้เปลี่ยนแปลงได้เสมอ

7. อนาธิปไตยไร้ขื่อแป กลายเป็นอาวุธที่ชอบธรรมในการแย่งชิง โค่นล้ม และทำลายล้างกันในทางการเมือง ขนาดยึดทำเนียบรัฐบาล ปิดกั้นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน ปิดล้อมรัฐสภา ยึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ยังทำเฉยกันอยู่ได้ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

8. หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่ว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" เสื่อมมนต์ขลัง และจะไม่มีใครเชื่อถือต่อไป เพราะเห็นอยู่แล้วว่า ทำชั่วได้ดีกันถ้วนหน้า

ด้วยปัจจัยประกอบหลายอย่างที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ "งูเห่าภาคสอง" ขึ้นในระบบการเมืองของไทย จนประเทศไทยต้องสูญเสีย เพื่อชดใช้ราคาการลงทุนที่แสนแพงดังกล่าวข้างต้น จึงสมควร ที่จะวิเคราะห์ที่มาและองค์ประกอบสำคัญของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น ซึ่งก็คงไม่มีวิธีใด ที่จะดีไปกว่า การอธิบายด้วยการล้อคำเปรียบเปรย พร้อมกับตั้งฉายาว่า เป็น "รัฐบาลสี่เสาต่างตอบแทน"

คำว่า "รัฐบาลสี่เสา" นั้น ไม่ได้หมายถึง "บ้านสี่เสา" ที่คนรู้จักกันทั้งบ้านทั้งเมือง หากแต่เป็นเสาทั้งสี่ ซึ่งได้แก่ สื่อ ศาล ทหาร ห้อย

สื่อ - คือ สื่อสารมวลชน
ศาล - คือ ศาลรัฐธรรมนูญ
ทหาร - คือ กองทัพและผู้บัญชาการเหล่าทัพ
ห้อย - คือ ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน

สื่อ คือ สื่อสารมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์อีกหลายช่อง ซึ่งดูเหมือนจะเกรงอกเกรงใจกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนออกนอกหน้า สื่อสารมวลชนเหล่านี้ จะได้รับการตอบแทนอย่างอู้ฟู่แน่

ศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีส่วนใช้อำนาจ "ล้มรัฐบาล" ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับพันธมิตรและพรรคประชาธิปัตย์ ถึงสองครั้งสองครา ล้มรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ไม่พอ ยังล้มรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อีกด้วย และการล้มรัฐบาลครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ก็นำมาซึ่งการเปลี่ยนขั้ว ทำให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เกิด

ดังนั้น จึงอาจได้รับการตอบแทนอย่างงามเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่แก้รัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลมาตรา 299 มาตรา 301 และมาตรา 309 เพื่อลดวาระการดำรงตำแหน่ง และการยกเลิก "บทนิรโทษกรรมล่วงหน้า" ซึ่งเคยเป็นเป้าหมายของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ที่จะแก้ไข

ทหาร ปิดกันให้แซดว่า นายทหารสามคน ที่มีชื่อย่อขึ้นต้นด้วย ป.ปลา (ทั้งชื่อเล่นและชื่อจริง) เป็น "ตัวจริง" ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้

ดังนั้น นายทหารท่านนั้น และ ผบ.ทบ. ก็จะได้รับการตอบแทนเช่นกัน ที่ตอบแทนไปแล้ว คือ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ หอบดอกกุหลาบสีแดงจากเนเธอร์แลนด์ช่อเบ้อเริ่ม พร้อมตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ใส่พานไปมอบให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นนายทหารนอกราชการถึงบ้าน

และยังต้องตอบแทน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา โดยคงจะต้องการันตีว่า จะได้อยู่เป็น ผบ.ทบ. ไปจนกว่าจะเกษียณ

นอกจากนั้น อานิสงส์ยังเผื่อแผ่ไปถึงน้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ด้วย เพราะทันทีที่ตั้งคณะรัฐมนตรีเสร็จ ก็มีคำสั่งย้าย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ กลับมาเป็น ผบ.ตร. อีกต่างหาก เรียกว่า ตอบแทนกันสุดลิ่มทิ่มประตูเลยทีเดียว

ห้อย คือ บุคคลแห่งปี ซึ่งเคยมีฉายาว่า "เข้าที่ไหนหัวหน้าตายหมด" และเคยก้าวเข้าสู่ทำเนียบปรัศนี "ใครเอ่ย?" ที่ "ชื่อพม่า หน้าลาว เว้าเขมร" ซึ่งตอนแรกได้นำเอา ส.ส. 37 คน ที่เคยอยู่พรรคพลังประชาชน แยกตัวไปสนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงขนาด นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เอ่ยปากในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคว่า "เพราะเขา เราถึงจัดตั้งรัฐบาลได้"

เพราะฉะนั้น จึงได้รับการตอบแทนชนิดที่เรียกว่า "กินไปทั้งชาติก็ไม่หมด"โดยจะเห็นได้ จากการที่กลุ่มเพื่อนเนวินได้ตำแหน่งใหญ่สามตำแหน่งไปครอง คือ ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถมทั้งสองกระทรวง ยังมี ส.ส.ของกลุ่มเพื่อนเนวิน มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการอีกด้วย

สรุปแล้ว แม้กลุ่มเพื่อนเนวิน จะมีเสียงที่โหวตให้นายกรัฐมนตรีเหลือเพียง 27 เสียง แต่โควต้ารัฐมนตรี ก็ยังคงให้เท่าเดิม ตามที่ตกลงกันไว้ คือ 5 ตำแหน่ง จะเรียกว่าเป็น "หุ้นส่วนใหญ่" ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็คงไม่ผิดนัก

นอกจากสี่เสาที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้เป็นเสลี่ยง หามเข้าสู่ตำแหน่ง และเป็นเสาค้ำรัฐบาล เหมือนเป็น "เปลือกหอย" ห่อหุ้มแล้ว ยังมี "พ่อทูนหัว" ที่รัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรีจะต้องเกรงอกเกรงใจ และทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ขัดใจด้วย คือ พันธมิตร

อย่างน้อยที่สุด ก็จะต้องไม่เอาเรื่องเอาราวกับพันธมิตร ทั้งกรณียึดทำเนียบรัฐบาล และยึดสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง อย่างมากที่สุด อาจถึงขั้นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเมืองใหม่ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สภาผู้แทนราษฎร เป็นแบบ 70 : 30 อย่างที่พันธมิตรต้องการ

นอกเหนือจากที่ได้ตอบแทนไปแล้ว คือ ยกตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้แกนนำคนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตร ที่สามารถด่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผ่านทางเอเอสทีวีได้ถึงอกถึงใจพระเดชพระคุณ และไม่เอาเรื่องเอาราวกับ ส.ส. สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ที่เป็นแกนนำพันธมิตร ยึดทำเนียบรัฐบาล และยึดสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง

ทั้งหมดนี้ ถ้าไม่ให้เรียก "รัฐบาลสี่เสา" ต่างตอบแทนแล้ว จะให้เรียกว่าอย่างไร?

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.